วันนี้ (15 ก.พ.) สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) พบว่า ในไตรมาส 4/2566 GDP ญี่ปุ่น หดตัวลง 0.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากที่หดตัวลง 3.3% ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 1.4%
ด้านการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในญี่ปุ่น ปรับตัวลง 0.2% สวนทางกับที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าอาจเพิ่มขึ้น 0.1% เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น และสภาพอากาศที่อบอุ่น ทำให้คนญี่ปุ่นงดออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน และซื้อเสื้อผ้าสำหรับฤดูหนาว
เช่นเดียวกับการใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการเติบโตของภาคเอกชนที่ปรับตัวลง 0.1% สวนทางกับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ว่าอาจปรับเพิ่มขึ้นที่ 0.3% ทั้งนี้การบริโภคภาคเอกชน และงบลงทุนหดตัวเป็นไตรมาสที่สามติดต่อกัน โดยบริษัทใหญ่ๆ คาดว่าจะเพิ่มการใช้จ่ายในการลงทุน 13.5% ในเดือน มี.ค.
การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ติดลบอย่างต่อเนื่องสองไตรมาส สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อได้ผลักดันให้ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น กดดันให้ภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน ต้องรัดเข็มขัดการใช้จ่าย แม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
เช่น การขอความร่วมมือให้บริษัทเอกชนเพิ่มค่าแรง การแจกเงินอุดหนุน และลดอัตราการจ่ายภาษีชั่วคราว แต่ก็ไม่สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศเท่าที่ควร ทั้งนี้การที่ GDP ติดลบสองไตรมาสติดต่อกันในทางเทคนิคถือว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอย
นอกจากนี้อุปสงค์ที่อ่อนแอยังเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่มีแผนจะยุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultra-loose Monetary Policy) ในปีนี้.
อ้างอิง
อ่านข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney