ทำไมคนจีนเกิดน้อยลง จึงไม่ได้เป็นวิกฤติแค่ในประเทศ  แต่สะเทือนถึงเศรษฐกิจโลก

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ทำไมคนจีนเกิดน้อยลง จึงไม่ได้เป็นวิกฤติแค่ในประเทศ แต่สะเทือนถึงเศรษฐกิจโลก

Date Time: 13 ก.พ. 2567 14:53 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • เปิดปม "วิกฤติประชากรจีน" ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำไมถึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องรีบแก้ ไม่ได้กระทบแค่เศรษฐกิจในประเทศ แต่สะเทือนถึงเศรษฐกิจโลก

Latest


ตั้งแต่การแพร่ระบาดโควิด-19 เศรษฐกิจจีน เรียกได้ว่าเจอปัญหารุมเร้ารอบด้าน ทำให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างทุลักทุเล ตั้งแต่วิกฤติฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนเงินทุนไหลออกจากประเทศ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่น จนฉุดให้ตลาดหุ้นตกต่ำอย่างต่อเนื่อง อีกโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญ เดินหน้าแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน คือ แนวโน้มประชากรจีนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะยาว 


โดยข้อมูลล่าสุดจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน พบว่า จำนวนประชากรของจีนลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในปี 2566 ทำให้ปัจจุบันจีนมีประชากรอยู่ที่ 1,409.67 ล้านคน ลดลง 2.08 ล้านคนจากปลายปี 2565


ในขณะที่อัตราการเกิดตลอดทั้งปีอยู่ที่ 6.39% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ โดยเกิดใหม่ลดลง 5.7% เหลือ 9.02 ล้านคน ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 7.87% มีผู้เสียชีวิต 11.1 ล้านคน ส่งผลให้อัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรอยู่ที่ติดลบ 1.48% ส่วนประชากรวัยเกษียณของประเทศ ซึ่งมีอายุ 60 ปีขึ้นไป คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 400 ล้านคนภายในปี 2578 ซึ่งมากกว่าประชากรทั้งหมดของสหรัฐฯ จากที่มีอยู่ประมาณ 280 ล้านคนในปัจจุบัน


ที่ผ่านมารัฐบาลจีนพยายามผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อยกระดับอัตราการเกิดให้มากขึ้น นับตั้งแต่ผ่อนคลายนโยบายลูกคนเดียวช่วงปี 2557-2559 เช่น การให้เงินอุดหนุนคู่รักให้มีลูก การเพิ่มเวลาลาคลอดบุตร การลดภาษี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจทำให้คนในประเทศไม่อยากมีลูก


หากจีนยังไม่สามารถแก้ปัญหาประชากรหด และปล่อยให้ประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นักวิชาการ คาดว่า จะทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจหลายอย่างตามมา เช่น คนจีนจะแก่ก่อนรวย เศรษฐกิจชะลอตัวลง เนื่องจากประชากรวัยทำงานน้อยส่งผลต่อศักยภาพการเติบโตของประเทศ(Productivity) อีกทั้งรัฐบาลยังต้องแบกรับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น แต่รายได้ลดลง จากต้นทุนด้านสุขภาพและสวัสดิการรองรับผู้สูงอายุที่พุ่งสูงขึ้น

สอดคล้องกับที่สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ที่ประเมินว่า เงินในระบบเงินบำนาญจะหมดภายในปี 2578 แต่วิกฤติประชากรลดไม่ได้แค่ฉุดการเติบโตเศรษฐกิจจีนเท่านั้น แต่ยังสะเทือนไปถึงเศรษฐกิจโลก

จีนประชากรหด กระทบเศรษฐกิจโลกอย่างไร?


ปัญหาประชากรลด คนเกิดใหม่น้อย แต่แก่แล้วมีอายุยืนมากขึ้น เป็นปัญหาที่ประเทศพัฒนาแล้ว หลายๆ ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ แต่สำหรับจีนนั้น ปัญหานี้ไม่ได้สร้างบาดแผลให้กับแค่เศรษฐกิจในประเทศ แต่ยังสะเทือนถึงเศรษฐกิจโลก ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ครองส่วนแบ่งการเติบโตที่สัดส่วน 18% ของ GDP โลก และมีมูลค่า GDP มากถึง 18 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกาที่ครองส่วนแบ่ง GDP โลกที่ 25% ทำให้การขยับตัวของจีนไม่ว่าจะมากหรือน้อยล้วนส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก 


จีนอยู่ในฐานะ “โรงงานผลิตของโลก” มายาวนานหลายทศวรรษ การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ย่อมส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิต การจะเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกสินค้าไปทั่วโลกนั้น 


กุญแจสำคัญ คือการมีกำลังคนวัยแรงงานจำนวนมหาศาล ทำให้ต้นทุนค่าแรงถูก ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้บริษัทระดับโลกพากันมาตั้งฐานการผลิตและประกอบชิ้นส่วนในจีน 


ในระยะยาว นอกจากจำนวนประชากรคนหนุ่มสาวที่ลดลง แรงงานที่ได้รับการศึกษา ที่ดีขึ้นจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้แรงงาน ที่ทำงานในโรงงานขาดแคลน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้บริโภคนอกประเทศจีน และอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อ รุนแรงขึ้นในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นหลัก แต่ด้วยปัญหาสงครามการค้า และความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ที่มีแนวโน้มตึงเครียด ขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างสองมหาอำนาจ 


ทำให้ในปี 2566 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีนลดลงถึง 20% จากปีก่อน โดยหันไปนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก จนมูลค่าแซงหน้าคู่ค้าอันดับหนึ่งอย่างจีนในรอบ 20 ปี 


ทั้งนี้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับเม็กซิโกเพิ่มขึ้น 17% เป็น 1.5 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2566 ในขณะที่ขาดดุลการค้ากับจีนก็ลดลง 27% เหลือ 2.7 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2553 แสดงให้เห็นว่าบริษัทอเมริกันพยายามกระจาย ห่วงโซ่อุปทานไปยังประเทศที่มีรายได้ต่ำอย่างเม็กซิโกและเวียดนาม เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ไม่มั่นคง


แต่กระแสการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนจะไม่เกิดขึ้นทันทีทันใด เนื่องจากจีนยังคงเป็นยักษ์ใหญ่ในเรื่องการประกอบการผลิต เพราะมีห่วงโซ่อุปทานที่และแรงงานมีฝีมือที่ครบครัน โดยบริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจในจีนจะค่อยๆ ย้ายไปยังประเทศที่มีต้นทุนแรงงานถูกกว่า อย่างอินเดียและเวียดนาม โดยเฉพาะธุรกิจที่ทำกำไรต่ำ และมีการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น เช่น การผลิตและการก่อสร้าง


นอกจากนี้จำนวนประชากรที่ลดลง อาจทำให้นักท่องเที่ยวขาออกของจีนลดลงตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศที่พึ่งพารายได้การท่องเที่ยวจากจีน รวมถึงโครงสร้างตลาดการบริโภคในจีนที่จะเปลี่ยนไป จากความต้องการสินค้าและบริการบางอย่างที่ลดลง

 

อ้างอิง

อ่านข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ