ตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นหลังจากดัชนี S&P 500 ไต่ขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้แรงหนุนจากการเก็งกำไรที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
ดัชนีหุ้นญี่ปุ่น Nikkei 225 ปรับเพิ่มขึ้น 1.28% ใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 34 ปี ในขณะที่หุ้นในฮ่องกงและจีนปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน ตอบรับการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ที่ผลักดันให้ดัชนีหุ้น S&P สู่ระดับสูงสุดใหม่ในวันศุกร์เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี
โดยดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 1.2% ปิดตลาดที่ 4,839.81 จุด แซงหน้าสถิติก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2565 มูลค่าการซื้อขายระหว่างวันยังแตะระดับสูงสุดใหม่ที่ 4,842.07 จุด
ทั้งนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะเริ่มการประชุมนโยบายการเงินในวันนี้ โดยตลาดคาดว่า BOJ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยติดลบหลังการประชุม ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ซึ่งเป็นมาตรฐานน้ำมันระดับโลก ลดลงสู่ระดับ 78 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยสหรัฐฯ ยังคงพยายามป้องกันไม่ให้กลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง แต่การดำเนินการทางทหารดังกล่าวจะต้องใช้เวลา
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องจับตาคือค่าของเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหญ่ 10 ประเทศ ท่ามกลางการเก็งกำไรว่านโยบายของเฟดจะช่วยปรับทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ความร้อนแรงของเงินเฟ้อลดลง โดยภาวะเศรษฐกิจเติบโตอย่างชะลอตัว แต่ไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นวันที่สอง เนื่องจากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สูงและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่ลดลง
โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 9.1 จุด มาอยู่ที่ 78.8 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์
นอกจากนี้นักลงทุนยังให้การจับตามองตัวเลขประมาณการ GDP สหรัฐฯ ไตรมาสที่ 4 ในวันพฤหัสบดีนี้ การประชุมของธนาคารกลางแคนาดาและยุโรป รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเกาหลีใต้ และแบบสำรวจผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเบื้องต้นของยุโรปในปี 2567
อ้างอิง