สังคมสูงอายุ กลายเป็นปัญหาระดับโลกที่หลายประเทศกำลังเผชิญ หรือต้องเตรียมแผนรับมือ โดยเฉพาะประเทศที่อัตราการเกิดต่ำ จำนวนแรงงานวัยหนุ่มสาวที่ลดลงก็จะส่งผลให้ผลิตผลของประเทศลดลงตาม จนอาจฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจนานหลายปี
เช่นเดียวกันกับสหรัฐอเมริกา ที่แม้จะยังไม่เข้าสู่สังคมสูงอายุแบบเต็มตัว แต่อัตราการเกิดมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าเฉลี่ยอายุชาวอเมริกันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 38.9 ปี โดยคาดว่าภายในปี 2575 สหรัฐฯ จะมีจำนวนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าประชากรเด็ก
ข้อมูลจากสำนักสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐฯ ระบุว่า ปัจจุบัน 44% ของคน Baby Boomers อยู่ในวัยเกษียณ และภายในปี 2573 คนกลุ่มนี้จะเข้าสู่วัยเกษียณพร้อมกันที่อายุ 65 ปี
เมื่อเทียบกับคนรุ่นอื่น คนกลุ่มนี้ถูกมองว่ามีความพร้อมที่จะเกษียณมากที่สุด เนื่องจากเกิดและใช้ชีวิตในช่วงยุคทองของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้มีเวลาสะสมความมั่งคั่งมากกว่าคนรุ่นหลัง แม้คนกลุ่มนี้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะมีสัดส่วนเพียง 17% แต่กลับถือครองความมั่งคั่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมดที่ 96.4 ล้านล้านดอลลาร์
แต่เมื่อพิจารณาดีๆ แล้วจะพบว่าไม่ใช่ Baby Boomers ทุกคนที่จะมีความมั่งคั่ง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ความไม่เท่าเทียมทางความมั่งคั่งในหมู่ผู้เกษียณอายุเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยคนรุ่น Baby Boomers จำนวนมากมีเงินไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายหลังเกษียณระยะยาว และ 43% ของผู้ที่มีอายุ 55-64 ปี ไม่มีเงินออมเพื่อการเกษียณเลยในปี 2565
อีกทั้งในปีเดียวกัน 30% ของผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยมีรายได้น้อยกว่า 27,180 ดอลลาร์ต่อคน (หรือประมาณ 95,0213 บาทต่อคน)
นอกจากปัญหาคน Baby Boomers มีเงินไม่พอใช้ยามเกษียณแล้ว ระบบโครงสร้างพื้นฐานดูแลผู้สูงอายุที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ยังกดดันให้ลูกหลานต้องแบกรับภาระทางการเงินเพิ่มขึ้นอีก
ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกามีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุระะยะยาวประมาณ 15,000 แห่ง โดยนักวิเคราะห์ของ SeniorLiving คาดการณ์ว่า ในอีก 6 ปีข้างหน้า จำนวนศูนย์ดังกล่าวจะต้องเพิ่มขึ้น 20% เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน บ้านพักคนชรามีแนวโน้มลดลง โดยตั้งแต่ปี 2563 บ้านพักคนชรา ปิดตัวไปแล้ว 579 แห่ง ส่งผลให้เตียงในบ้านพักคนชรามีจำนวนน้อยลงกว่า 45,000 เตียง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 สอดคล้องกับข้อมูลของ American Health Care Association ที่ระบุว่า บ้านพักคนชรามากกว่าครึ่งต้องปฏิเสธไม่รับลูกค้า เพราะไม่สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้
ปัญหาดังกล่าวยังผลักดันให้ค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการพุ่งสูงขึ้น โดยในปี 2566 พบว่า บ้านพักคนชรากว่า 77% ขาดแคลนบุคลากรในการทำงาน เนื่องจากการดูแลสูงอายุเป็นอาชีพที่ต้องใช้แรงงานหนัก ความรับผิดชอบสูง และต้องมีความเห็นอกเห็นใจผู้สูงอายุ จึงทำให้คนอเมริกันหลีกเลี่ยงงานประเภทนี้ แม้จะให้รายได้ดี
ซึ่งหากรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาระบบโครงสร้าง เพื่อรองรับการเกษียณอายุครั้งใหญ่ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2573 ภาระดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังลูกหลาน ซึ่งเป็นคนรุ่นมิลเลนเนียล และ Gen Z ทันที
ทั้งนี้การที่คนรุ่น Baby Boomers เข้าสู่วัยเกษียณมากขึ้นจะยิ่งสร้างความตึงเครียดให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศ โครงการของรัฐบาล และการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากจำนวนแรงงานในระบบน้อยลง ทำให้คนวัยทำงานต้องแบกรับภาระทางการเงินมากขึ้น ทั้งการดูแลสมาชิกสูงอายุในครอบครัว และการจ่ายภาษีในอัตราที่สูงขึ้น เพื่อเป็นรายได้ให้รัฐบาลนำไปจัดสรรเพื่อพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุ
อ้างอิง
อ่านข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney