ธนาคารกลางนิวยอร์ก ออกรายงานหนี้ครัวเรือนรายไตรมาส พบว่าสหรัฐฯ มีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1.3% หรือ 2.2 แสนล้านดอลลาร์ ในไตรมาสที่ 3/2566 ทำให้ปัจจุบันมีหนี้ครัวเรือนสะสมที่ 17.29 ล้านล้านดอลลาร์ (597 ล้านล้านบาท)
ในขณะที่ยอดคงเหลือบัตรเครดิต เพิ่มขึ้นประมาณ 4.7% เป็น 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ 3 ส่งผลให้ยอดรวมหนี้บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.08 ล้านล้านดอลลาร์(34 ล้านล้านบาท) ซึ่งทำสถิติสูงที่สุดตั้งแต่ปี 2546 และเป็นยอดที่พุ่งสูงขึ้นก่อนการจับจ่ายช่วงวันหยุดยาวคริสต์มาส สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ย APR บัตรเครดิต ที่พุ่งสูงขึ้นเหนือระดับ 20% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจจะบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ โดยได้รับแรงหนุนหลักจากตลาดแรงงาน แต่เมื่อดูสถานการณ์การใช้จ่ายของผู้บริโภค พบว่าคนอเมริกันกว่า 40% เงินเก็บช่วงโควิดหมดแล้ว ทำให้ต้องหันมายืมเงินจากบัตรเครดิต เพื่อบริหารสภาพคล่องจ่ายหนี้ต่างๆ ในชีวิตประจำ ไม่ว่าจะเป็นค่าบ้าน ค่ารถ หรือหนี้การศึกษาที่พุ่งสูงขึ้น
ปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากรัฐบาลสหรัฐฯ ยกเลิกนโยบายละเว้นหนี้การศึกษา ทำให้นักวิเคราะห์กังวลว่า ผู้บริโภคจำนวนมากต้องพึ่งพาบัตรเครดิตและสินเชื่ออื่นๆ มากขึ้นเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยประชาชนชาวอเมริกันหันมาพึ่งพาบัตรเครดิตมากขึ้น ได้ผลักดันให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของบัตรเครดิตนั้นสูงกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาด
ประเด็นที่น่ากังวลอีกประการหนึ่ง คือความนิยมที่เพิ่มขึ้นของบริการ Buy now pay later หรือการซื้อก่อน จ่ายทีหลัง ซึ่งผู้ใช้บริการจะสามารถผ่อนชำระค่าสินค้าเป็น 4 งวด โดยไม่มีค่าธรรมเนียม และหากมีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น จะทำให้หนี้ดังกล่าวไม่ถูกรายงานไปยังสำนักงานข้อมูลเครดิตแห่งชาติ อาจทำให้ภาพรวมหนี้ครัวเรือนสูงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
อ้างอิง