สำรวจเศรษฐกิจฮ่องกง ภารกิจเพิ่มเสน่ห์ตลาดทุน ทวงคืนบัลลังก์ “ฮับการเงินแห่งเอเชีย”

Economics

World Econ

ลภัสรดา พิพัฒน์ (รดา)

ลภัสรดา พิพัฒน์ (รดา)

Tag

สำรวจเศรษฐกิจฮ่องกง ภารกิจเพิ่มเสน่ห์ตลาดทุน ทวงคืนบัลลังก์ “ฮับการเงินแห่งเอเชีย”

Date Time: 22 ธ.ค. 2566 12:04 น.

Video

ดร.พิพัฒน์ KKP กระเทาะโจทย์เศรษฐกิจไทย บุญเก่าเจอความเสี่ยง บุญใหม่มาไม่ทัน

Summary

  • Thairath Money พาสำรวจฮ่องกง ถึงความเป็นไปของเศรษฐกิจ ทิศทางและแนวทางทวงคืนสถานะอันดับ 1 ศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย รวมถึงเพิ่มเสน่ห์ดึงดูดนักธุรกิจ นักลงทุน ให้กลับมาอย่างไร

Latest


หากใครได้ติดตามประวัติศาสตร์ ในอดีตฮ่องกง อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ และมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการพัฒนาฮ่องกงให้ขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการเงินและธุรกิจของเอเชีย ต่อมาในปี 1997 จึงได้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของจีนอีกครั้ง และด้วยความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจจีนที่เติบโตจากอดีตเป็นอย่างมาก จึงส่งผลให้ฮ่องกงก็ยังคงสถานะของการเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของภูมิภาค 

ด้วยการปกครองแบบ 1 ประเทศ 2 ระบบ ทำให้ฮ่องกงเป็นเหมือนประตูไปสู่การลงทุนในจีน โดยในแง่ของตลาดเงินตลาดทุน คือ นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้าสู่การลงทุนในจีนได้ผ่านฮ่องกง และในขณะเดียวกับนักธุรกิจ นักลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ก็สามารถมาระดมทุน มาซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงได้ด้วย  

แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฮ่องกง ได้เจอกับความท้าทายครั้งใหญ่ ทั้งปัญหาการเมืองภายใน ตามมาด้วยการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด -19 ที่สร้างผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจโดยรวม และศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ส่งผลให้ในการจัดอันดับศูนย์กลางทางการเงินของโลก ผ่านดัชนี Global Financial Centres ในปี 2022 ฮ่องกงถูกสิงคโปร์แซงหน้า โดยร่วงลงมาอยู่ในอันดับ 4 สิงคโปร์ขยับขึ้นไปเป็นอันดับ 3 ขณะที่อันดับ 1 และ 2 ยังคงเป็นนิวยอร์กและลอนดอน ตามลำดับ 

นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว หากมองภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ถือเป็นประเด็นใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับฮ่องกง แม้ว่าจะเป็นพื้นที่ที่มีเศรษฐกิจเสรีและเปิดกว้าง ก็แทบไม่รอดพ้นจากปัญหาที่เกิดขึ้น 

ผู้สื่อข่าว Thairath Money เดินทางเข้าร่วม Global Financial Leaders’ Investment Summit ช่วงวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2566 รับฟังข้อมูลสำคัญกับ InvestHK พร้อมทั้งเยี่ยมชมสถานที่สำคัญของอุตสาหกรรมการเงินและเทคโนโลยี ทั้งธนาคารกลางฮ่องกง ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (HKEX) ตลอดจนอุทยานวิทยาศาสตร์ (HKSTP) เพื่อสำรวจความเป็นไปของเศรษฐกิจ ทิศทางและแนวทางทวงคืนสถานะอันดับ 1 ศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย รวมถึงเพิ่มเสน่ห์ดึงดูดนักธุรกิจ นักลงทุน ให้กลับมาอย่างไร จึงได้ข้อสรุปดังนี้ 

ศักยภาพโดยรวมกันของตลาดหุ้นฮ่องกง ถือว่าใหญ่ติด 1 ใน 10 ของโลก ด้วย Market Cap ที่สูงกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีจำนวนบริษัทที่จดทะเบียนมากกว่า 2,600 บริษัท และ 2 ปีที่ผ่านมามีหุ้น IPO ท่ีมาระดมทุนที่สูงมูลค่าเกือบ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ  

HKEX ได้มีการเชื่อมต่อโดยตรงกับตลาดทุนในจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย  Connect Schemes ที่มีมาเกือบ 10 ปีแล้ว ซึ่งก็จะเชื่อมต่อกับตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น แล้วก็ขยายผลิตภัณฑ์ไปยัง Bond  / Futures Index และล่าสุดครอบคลุมถึง ETF ด้วย และสิ่งที่ฮ่องกงได้มีการพัฒนาเพื่อเพิ่มเสน่ห์ให้กับตลาดทุนเพิ่มเติมในระยะต่อจากนี้ ประกอบด้วย 2 ส่วนด้วยกัน

อย่างแรก จะขยายให้ครอบคลุมถึงกลุ่มอนุพันธ์มากขึ้น เพราะผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่เดิมในตลาดนั้น อาจไม่เพียงพอสำหรับการบริหารความเสี่ยงของนักลงทุน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนในระยะหลังจากนี้ 

อย่างที่สอง คือ การเพิ่มบทบาทของเงินหยวน ทั้งนี้ก็เพื่อให้นักลงทุนในแผ่นดินใหญ่สามารถเข้าถึงหุ้นในตลาดหุ้นฮ่องกง ด้วยเงินหยวน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและความเสี่ยงจากสกุลเงินด้วย และที่สำคัญคือ ฮ่องกงกำลังพิจารณาเปิดทางให้ บริษัทจากตะวันออกกลางที่จดทะเบียน ให้สามารถเข้าถึงเงินทุนทั้งระหว่างประเทศและจีนแผ่นดินใหญ่ได้ ซึ่งก็จะทำให้สภาพคล่องของหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และที่สำคัญจะมีผลต่อการประเมินมูลค่าด้วย 

ในแง่ของเงินทุนรูปแบบอื่นๆ โดยภาพรวมแล้วฮ่องกงถือว่ายังเป็นศูนย์กลางเฮดจ์ฟันด์ของเอเชียและเป็นศูนย์กลาง Private Equity ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค

นอกจากนี้ฮ่องกงยังเป็นศูนย์กลางที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียสำหรับกรีนบอนด์ และ Sustainable Bond ที่ครองตลาดถึง 35% และที่สำคัญฮ่องกง แนวทางการดึงดูดเงินทุนหลังจากนี้ คือ เรื่องของ Family Office หรือสำนักครอบครัว ที่ตั้งเป้าต้องดึงดูดให้เศรษฐีจากทั่วโลกอย่างน้อย 200 แห่งให้จัดตั้งหรือขยายธุรกิจในฮ่องกงภายในปี 2025

และอีกส่วนที่ฮ่องกงให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ “Greater Bay Area” พื้นที่เศรษฐกิจใหม่กวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า ซึ่งจะมีการผลักดันเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ แล้ว ยังเป็นการช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเงินกับจีนแผ่นดินใหญ่อีกด้วย 

นอกจากนี้ยังมีภาคนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้ลงทุนประมาณ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐใน I&T เพื่อสร้างระบบนิเวศที่จะดึงดูดบริษัทต่างๆ เข้ามามากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่เพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างงานที่มีคุณภาพมากขึ้นให้กับประชาชนฮ่องกงด้วย

ขณะที่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของฮ่องกงในปีนี้ คาดการณ์ GDP โตไม่ต่ำกว่า 3% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ไม่ได้สูงเท่าไร เพราะเพิ่งจะมีการฟื้นตัวกลับมาเปิดประเทศเต็มรูปแบบไม่นาน ซึ่งรัฐบาลก็เร่งกระตุ้นการท่องเที่ยว กับดึงให้ธุรกิจต่างพามาตั้งฐานมากขึ้น โดยในระยะสั้น ตัวขับเคลื่อนสำคัญยังคงเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน ส่วนระยะกลาง บริการทางการเงิน นวัตกรรมและเทคโนโลยี และในระยะยาวจะมาจากการลงทุนมหาศาลในโครงสร้างพื้นฐาน ที่ไม่ใช่แค่ที่ดิน ที่อยู่อาศัย เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงแพงมาก แต่ฮ่องกงจะใช้วิธีการขยายโครงสร้างพื้นฐานในด้านการคมนาคมขนส่ง ที่เชื่อมต่อกับ Greater Bay Area เพื่อให้การเดินทางและการเชื่อมต่อมีความสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น


Author

ลภัสรดา พิพัฒน์ (รดา)

ลภัสรดา พิพัฒน์ (รดา)
Leading efforts to deliver content on the Digital Economy and the Future of Money.