จากการจัดอันดับ The Global Talent Competitiveness Index 2023 โดย INSEAD โรงเรียนบริหารธุรกิจชั้นนำระดับโลก พบว่า ในปี 2566 ประเทศอินโดนีเซีย มีพัฒนาการด้านความสามารถทางการแข่งขันมากที่สุดในเอเชีย โดยดัชนีชี้วัดศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์ ระหว่างปี 2562-2566 ปรับตัวขึ้น 14 อันดับ
ทั้งนี้จากการสำรวจประเทศที่ได้คะแนนดัชนีศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์ทั่วโลกในปี 2566 พบว่า ประเทศที่มีคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา แต่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินโดนีเซียถือว่ามีความก้าวหน้าที่สุดในการพัฒนาศักยภาพคน และไต่อันดับขึ้นมาอยู่ที่ 75 จาก 113 ประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซีย ยังคงขาดแรงงานที่มีทักษะความรู้ความสามารถระดับสูง ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ และระดับบริหาร ซึ่งก็สอดคล้องกับรายงานของ HSBC Holdings Plc สถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกง ระบุว่า แรงงานอินโดนีเซียมากกว่า 70% อยู่ในภาคส่วนที่ได้รับค่าจ้างต่ำ เช่น เกษตรกรรม และการก่อสร้าง ทั้งนี้ โจโค วิโดโด ประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย กำลังเผชิญกับความท้าทายในการผลักดันเพื่อสร้างงาน และเพิ่มทักษะให้กับแรงงานท้องถิ่นในประเทศ
Felipe Monteiro ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของ INSEAD กล่าวว่า
“หากอินโดนีเซียมีความก้าวหน้าในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เงินเดือนและผลผลิตของแรงงาน ท่ามกลางความได้เปรียบด้านประชากร อินโดนีเซียก็สามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยดึงดูดคนที่มีความสามารถ และะผลักดัน GDP ให้สูงขึ้นไปอีก”
ปัจจุบัน อินโดนีเซียมีประชากรประมาณ 270 ล้านคน ซึ่งมากเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยสองในสามของประชากรอยู่ในวัยทำงาน.
อ้างอิง