คนอเมริกันกังวล “เงินเฟ้อ” ปีหน้า อาจยังพุ่ง! เพิ่มแรงกดดัน เฟด หลังส่งสัญญาณยุติขึ้นดอกเบี้ย

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

คนอเมริกันกังวล “เงินเฟ้อ” ปีหน้า อาจยังพุ่ง! เพิ่มแรงกดดัน เฟด หลังส่งสัญญาณยุติขึ้นดอกเบี้ย

Date Time: 23 พ.ย. 2566 17:57 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของครัวเรือนสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน ในเดือนพฤศจิกายน แม้ข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดจะส่งสัญญาณชะลอตัวลง เพิ่มแรงกดดัน เฟด หลังเพิ่งส่งสัญญาณยุติขึ้นดอกเบี้ย

รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Sentiment Index) จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ระบุว่า การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของครัวเรือนสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สองติดต่อกันในเดือนพฤศจิกายน แม้ข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดจะส่งสัญญาณชะลอตัวลง 

โดยผู้บริโภคมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะเร่งขึ้นเป็น 4.5% ในปีหน้า เพิ่มขึ้นจากระดับ 4.2% ในเดือนตุลาคม และจากระดับ 3.2% ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน


ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคมีการมองอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 3.2% เพิ่มขึ้นจาก 3.0% ในเดือนตุลาคม และ 2.8% ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2554 และแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อระยะยาวของภาคครัวเรือนไม่ได้สูงกว่านั้น นับตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งสูงถึง 3.4% ในขณะที่วิกฤตการณ์ทางการเงินเริ่มคลี่คลาย

โจแอนน์ ซู รองศาสตราจารย์ด้านการวิจัยและผู้อำนวยการฝ่ายสำรวจผู้บริโภคที่รัฐมิชิแกน กล่าวว่า “คาดการณ์เงินเฟ้อของครัวเรือนสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังมีความกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง อาจมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปีหน้า”

อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2565 หลังจากอัตราดอกเบี้ยพุ่งสู่ระดับสูงสุด นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 ที่ระดับ 9.1% ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เริ่มดำเนินนโยบายทางการเงินแบบเข้มงวด ขึ้นดอกเบี้ยสูง เพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้กลับมาอยู่ที่ระดับเป้าหมาย 2% 

คาดการณ์เงินเฟ้อของภาคครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น สวนทางกับสถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศที่ชะลอตัว ถือเป็นข่าวที่ไม่ดีนักสำหรับ Fed 


เนื่องจากคาดการณ์เงินเฟ้อของภาคครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้น สามารถกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในลักษณะที่ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น จะเห็นได้จากคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในฤดูใบไม้ผลิปี 2565 ส่งผลให้ Fed ตัดสินใจเพิ่มอัตราการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นสามในสี่ของเปอร์เซ็นต์ ในการประชุมนโยบายสี่ครั้งติดต่อกันในปีที่แล้ว

อ้างอิง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์