สงคราม ดอกเบี้ย หนี้สหรัฐฯ อะไรคือตัวจุดชนวนวิกฤติเศรษฐกิจโลกถัดไป มุมมอง4ผู้บริหารการเงินระดับโลก

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

สงคราม ดอกเบี้ย หนี้สหรัฐฯ อะไรคือตัวจุดชนวนวิกฤติเศรษฐกิจโลกถัดไป มุมมอง4ผู้บริหารการเงินระดับโลก

Date Time: 9 พ.ย. 2566 09:52 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้เกิดสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนกับธนาคารทั่วโลก ซึ่งบางแห่งก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ bank run ที่ทำให้ล้มไป จนเกิดการตั้งคำถามว่า หรือวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหม่อยู่ใกล้แค่เอื้อม ธนาคารกลางฮ่องกง จัดงาน Global Financial Leader’s Investment Summit ประชุมสุดยอดผู้นำด้านการเงินของโลก เพื่อมาพูดคุยมุมมองด้านเศรษฐกิจ คาดการณ์ และเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตที่จะเกิดขึ้น

Latest


ผู้สื่อข่าวรายงานเนื้อหาในการเสวนาของเหล่าผู้บริหารสถาบันการเงินระดับโลก ในหัวข้อ "Next Crisis in Finance - What’s crisis?" ซึ่งมี Panelist ได้แก่ Christian Sewing CEO ของ Deutsche Bank, Colm Kelleher ประธาน UBS Group, Jame Gorman ประธานและซีอีโอของ Morgan Stanley และ Bob Prince Co-CIO ของ Bridgewater Associates

จากวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นทางฝั่งของสหรัฐอเมริกา และยุโรป เมื่อช่วงต้นปี ทำให้ฝั่งเอเชียต้องตระหนักถึงความเสี่ยงของระบบการเงินโลก และเตรียมการในการรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ย่อมได้ 

เรียกคืนความเชื่อมั่น ให้รอดวิกฤติใน 36 ชั่วโมง 

เริ่มการเสวนาด้วยมุมมองจาก Christian Sewing CEO ของ Deutsche Bank ที่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาธนาคารได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของโซเชียลมีเดียที่ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนภายในแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว แต่ธนาคารก็สามารถเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ภายใน 36 ชั่วโมง ซึ่ง  Christian ได้แบ่งปันองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการที่มีบทบาทสำคัญในการตอบสนองต่อสถานการณ์ของ Deutsche Bank ได้แก่ 1.สถานะเงินทุนที่แข็งแกร่งเพียงพอ 2.สภาพคล่องที่เพียงพอ 3.ฐานเงินฝากที่กว้างขวาง และหลากหลาย ซึ่งก็จะเชื่อมโยงกับสภาพคล่องโดยตรง และ 4.ความสามารถในการทำกำไรที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ Christian ยังกล่าวอีกว่า เขาสัมผัสได้ถึงการโจมตีตลาดที่ไม่ยุติธรรม และคนส่วนใหญ่เองก็รู้ว่าข่าวเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร รวมถึงได้พิจารณาถึงความแข็งแกร่งของธนาคารทั้ง 4 ด้านที่ได้แบ่งปันไป โดยสิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ Deutsche Bank ตัดสินใจไม่แถลงข่าวนี้กับสาธารณชน โดย Christian อธิบายว่าในยุคของโซเชียลมีเดีย การส่งข้อความสาธารณะอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ในทางกลับกันธนาคารจึงเลือกที่จะอาศัยความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับลูกค้าเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ กล่าวคือ เลือกสื่อสารในวงจำกัดเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา 

เพิ่มทุน ไม่ใช่คำตอบเดียวของวิกฤติสภาพคล่อง 

อีกดีลยักษ์ที่เปลี่ยนภูมิทัศน์การเงินโลกในปีนี้คงหนี้ไม่พ้น UBS ควบรวม Credit Suisse จากความท้าทายที่ธนาคารในยุโรปต้องเผชิญเมื่อเดือนมีนาคม Colm Kelleher ประธาน UBS Group ได้สะท้อนให้เห็นถึงการตัดสินใจที่ซับซ้อนในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติ ว่า สำหรับดีลการเข้าซื้อกิจการ Credit Suisse นั้นในตอนแรก UBS ไม่มีความตั้งใจที่จะควบรวมกิจการกับ Credit Suisse เนื่องจาก UBS มีกลยุทธ์ของตนเองที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก 

แต่เมื่อได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในช่วงหนึ่งปีก่อนหน้าที่ผ่านมาพบว่า Credit Suisse กำลังเผชิญกับความท้าทายที่รุนแรง ด้วยเหตุนี้ UBS จึงเริ่มเตรียมการสำหรับแนวทางที่เป็นไปได้ ซึ่งไม่ได้ทำในฐานะผู้ซื้อ แต่ในฐานะผู้ตรวจสอบความถูกต้อง จนในที่สุดก็ได้รับความไว้วางใจจากผู้ถือหุ้น UBS ให้รักษาเสถียรภาพของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 

แม้ว่าหลายคนอาจไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการในครั้งนี้ แต่ท้ายที่สุดแล้วพวกเขาก็ได้ทำข้อตกลงที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น และหลีกเลี่ยงวิกฤติที่ใหญ่กว่า และที่สำคัญการปฏิบัติตามกฎระเบียบ และความร่วมมือมีความสำคัญอย่างยิ่งในการผ่านพ้นสถานการณ์ที่ซับซ้อนนี้ ดังนั้นการที่ปัญหาไม่ได้ลุกลามหลังจากการควบรวมกิจการของ UBS และ Credit Suisse บ่งชี้ว่าการแก้ปัญหาประสบความสำเร็จ 

นอกจากนี้ Kelleher ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญในการจัดการกับความท้าทายที่สถาบันการเงินต้องเผชิญว่า เมื่อเกิดวิกฤติมีความจำเป็นที่หน่วยงานกำกับดูแลต้องมุ่งเน้นไปที่การจัดหาเงินทุน คุณสมบัติของหลักประกัน (Collateral eligibility) และมูลค่ารวมของหลักประกัน (Collateral Pool ) เพื่อป้องกันวิกฤติในภาคส่วนที่ได้รับการควบคุม

โดยเขามองว่าการควบคุมโมเดลธุรกิจควรเป็นความรับผิดชอบของผู้ถือหุ้น ฝ่ายบริหาร และกรรมการบริษัท แต่ขณะเดียวกันก็รับทราบถึงความจำเป็นที่หน่วยงานกำกับดูแลของสวิสจะต้องมีการกำกับดูแลที่เข้มข้นขึ้น ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤติเช่นนี้การเพิ่มทุนอาจไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนในการจัดการกับจุดอ่อนของภาคธนาคาร

วิกฤติธนาคารในยุโรป ไม่ใช่วิกฤติการเงินโลก

ขณะที่ Jame Gormam CEO ของ Morgan Stanley ได้กล่าวเสริมต่อจากกรณีของ UBS ต่อบทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลในภาวะวิกฤติทางการเงิน ซึ่งถือเป็นการให้มุมมองที่มีความท้าทายไม่น้อย โดยเขาได้ยกวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2008 และพูดถึงความพยายามของหน่วยงานกำกับดูแลตลอด 14 ปีที่ผ่านมาในเชิงการทูต แต่ความแตกต่างที่สำคัญกับเหตุการณืเมื่อเดือนมีนาคมนั้น Jame ชี้ให้เห็นว่าคำว่า "วิกฤติ" ไม่สามารถใช้ได้กับทั้งสองสถานการณ์เท่ากัน เพราะวิกฤติปี  2008 ซึ่งมักถูกขนานนามว่าเป็น the mother of all financial crisis 

ซึ่งเป็นภัยพิบัติทางการเงินระดับโลกที่ขยายวงกว้างไปไกลกว่าภาคการธนาคาร โดยครอบคลุมสถาบันที่ไม่ใช่สถาบันการเงินอย่าง GE Capital และจำเป็นต้องมีการแทรกแซงจากรัฐบาลเพื่อป้องกันความล้มเหลวของระบบ 

แต่ในทางตรงกันข้าม เหตุการณ์ในเดือนมีนาคมมองว่าไม่ใช่วิกฤตการณ์ด้านการธนาคาร แต่เป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นเฉพาะภูมิภาค ซึ่งมีโมเดลธุรกิจที่กระจุกตัว โดยธนาคารเหล่านี้รองรับฐานลูกค้าเฉพาะ และเผชิญกับความท้าทายเมื่อลูกค้าเหล่านั้นถอนเงินฝาก ดังนั้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงมองว่าเป็นปัญหาในวงจำกัด อีกทั้งยังได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว 

แต่มีแง่มุมหนึ่งในการแก้ปัญหาเหล่านี้ที่มองว่าน่าตั้งข้อสังเกต คือ การมีส่วนร่วมของธนาคารที่ใหญ่ที่สุด ให้เงินฝากที่ไม่มีประกัน เพื่อช่วยเหลือหน่วยงานกำกับดูแลในการแก้ไขวิกฤติ การกระทำเช่นนี้ทำให้เงินทุนของพวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยง

เฝ้าระวัง หนี้อาบยาพิษของรัฐบาลสหรัฐฯ

Bob Prince Co-CIO ของ Bridgewater Associates กองทุนเฮจฟันด์ใหญ่ที่สุดในโลก เจาะลึกความท้าทายในอดีต และอนาคตที่อาจเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมการธนาคาร ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถือเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์ของ asset–liability mismatch การบริหารทรัพย์สิน และหนี้สินที่ไม่ตรงกัน เมื่อพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ จะเห็นว่าธนาคารเหล่านั้นอยู่ตรงจุดต่ำสุดของการจัดการหนี้สินด้านสินทรัพย์ที่ไม่ดี 

ส่วนประเด็นที่น่าเป็นห่วงเมื่อดูหนี้กระทรวงการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ในปี 2008 หนี้ต่อ GDP อยู่ที่ประมาณ 70% ในระดับที่เป็นมานานหลายทศวรรษ แต่ต่อมาก็มีการต่อสู้เพื่อชดเชยแรงกดดันจากการลดภาระหนี้สิน และการแพร่ระบาดใหญ่ รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงความมั่งคั่งครั้งใหญ่จากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน และนั่นทำให้รัฐบาลมีหนี้ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจาก 70% เป็น 120% และความเปราะบางของสิ่งเหล่านั้นอยู่ที่การโรลโอเวอร์หนี้ และการออกตราสารหนี้ที่จะเห็นได้ในทศวรรษต่อไป 

ดังนั้นจะต้องติดอยู่กับหนี้นั้นจนกว่าจะชำระหนี้หมด กล่าวคือ ต้องมีการทบหนี้ และการหมุนเวียนหนี้ โดยการออกตราสารหนี้จะอยู่ที่ประมาณ 25% ของ GDP หมายถึงว่าทุกๆ ปี จะต้องออกหนี้ 25% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าบรรทัดฐานในอดีตอย่างมาก

นอกจากนี้เขายังเน้นย้ำการทำความเข้าใจผู้ถือพันธบัตรโดยนักลงทุนต่างชาติถือครองหนี้กระทรวงการคลังสหรัฐฯ 27% และธนาคารกลางถือ 18% ซึ่งโดยปกติจะเป็นแหล่งการลงทุนที่เชื่อถือได้ แต่สัดส่วนนี้จะอ่อนไหวต่อความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ 

และเมื่อความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์มาบรรจบกับหนี้สิน การโรลโอเวอร์ และการออกตั๋วเงินคลัง ก็จะกลายเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสนใจในปีต่อๆ ไป ซึ่งอาจไม่ได้เกิดเป็นปัญหาฉับพลัน แต่อย่างลืมว่ามันก็คือปัญหา

สรุปแล้วอะไรกันแน่ที่จะจุดชนวนวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่?

เมื่อให้ Panalist ทั้ง 4 คนพูดปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดที่ควรระวังที่จะจุดชนวนวิกฤติครั้งถัดไป Christian Sewing CEO ของ Deutsche Bank กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะเห็นวิกฤติครั้งต่อไปอย่างชัดเจน แต่ถ้าให้พูดตามตรงรู้สึกกังวลเกี่ยวกับสถานะของตลาดทุน เพราะตลาดเหล่านี้มีความยืดหยุ่นอย่างมาก หากนึกถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากมุมมองทางภูมิรัฐศาสตร์ ให้ลองนึกถึงว่าอัตราดอกเบี้ยจะไปถึงจุดใดในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

ความกลัวที่ใหญ่ที่สุดของฉันก็คือ การบานปลายทางภูมิรัฐศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง และอาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และตลาด ณ จุดใดจุดหนึ่ง จริงๆ แล้วละทิ้งความสงบ จากนั้นคุณก็จะมีเหตุการณ์ในตลาด และในเรื่องนี้ฉันคิดว่าเราทุกคนจำเป็นต้องตื่นตัวอย่างมากเกี่ยวกับความเสี่ยง อย่าทำผิดพลาด และคิดว่าตลาดจะยังคงสงบเหมือนที่เป็นอยู่ในตอนนี้

ขณะที่ Colm Kelleher ประธาน UBS Group กล่าวว่า นี่เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้หลายคนไม่พอใจ ตั้งแต่ปี 2008 จำนวนสินทรัพย์ที่ย้ายออกจากภาคการเงินที่ได้รับการควบคุมเพิ่มขึ้นประมาณ 10% โดยปัจจุบันประมาณ 50% ของสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลกอยู่ในสิ่งที่คุณเรียกว่าตัวกลางทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร แต่เป็น Shadow banking หรือภาคธนาคารเงา ดังนั้นวิกฤติครั้งต่อไปเมื่อมันเกิดขึ้นคงจะอยู่ในภาคนั้น ที่จะเป็นวิกฤติความไว้วางใจ 

ด้าน James P.Gorman ประธานและซีอีโอของ Morgan Stanley ให้มุมมองว่า มันน่าจะเป็นเรื่องทางภูมิรัฐศาสตร์ การเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งในที่นี้หมายถึงความท้าทายต่อระบอบประชาธิปไตยในหลายประเทศทั่วโลกที่เห็นได้ค่อนข้างชัดเจน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะคาดเดาอะไรได้มากน้อยแค่ไหนว่าจุดอ่อนมันอยู่ตรงไหน

ถ้าย้อนกลับไปมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม จะเห็นเบาะแสเล็กน้อย คือ การจำกัดขนาดของธนาคารขนาดใหญ่ โดยนัยคือการสนับสนุนธนาคารขนาดเล็กทั่วโลก ซึ่งอาจเป็นวัตถุประสงค์เชิงนโยบายที่สูงส่งอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ถ้ามองในทางปฏิบัติจากความเป็นจริง ธนาคารใหญ่เพียงแค่แข่งขันน้อยลงเท่านั้น และเมื่อผู้เล่นที่มีการแข่งขันน้อยที่สุดถูกกดดัน สุดท้ายก็จะถอยกลับ

และสุดท้าย Bob Prince Co-CIO ของ Bridgewater Associates ให้มุมมองว่า สิ่งที่ใหญ่ที่สุดที่น่ากังวลในระยะใกล้ก็คือ การที่ตลาดกำลังแข่งกันลดราคา นานแค่ไหนที่วงจรที่เข้มงวดมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปในสหรัฐอเมริกา และยุโรป  ก่อนที่เราจะบรรลุเงื่อนไขกดอัตราเงินเฟ้อเหลือ 2% ขณะที่อัตราการเติบโตก็ 2% 

และเมื่อพิจารณาถึงปัจจัยหลายอย่างที่ตอนนี้ติดอยู่กับค่าจ้าง และการว่างงาน และอื่นๆ มีแนวโน้มว่าจะดำเนินต่อไป ดังนั้นความเสี่ยงที่เห็นได้ชัด คือ ตลาดกำลังลดราคา และผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ