สภาทองคำโลก (World Gold Council) รายงาน แนวโน้มความต้องการทองคำในไตรมาส 3/2566 ที่ผ่านมา พบว่า ยังได้รับแรงหนุนอย่างต่อเนื่องจากความต้องการซื้อทองคำของธนาคารกลางที่ยังคงสูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้ดีมานด์รายไตรมาส (ไม่รวมการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์) พุ่งแตะ 1,147 ตัน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปีถึง 8%
การซื้อสุทธิของธนาคารกลางต่างๆ ในไตรมาสนี้นับว่าแข็งแกร่งที่สุดเป็นอันดับสาม โดยทะยานไปอยู่ที่ 337 ตัน แม้ว่าจะยังไม่ทำลายสถิติของไตรมาสที่ 3 ปี 2565 แต่ดีมานด์ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันสูงถึง 800 ตัน คาดว่าการแห่ซื้อทองคำต่อเนื่องของธนาคารจะยังไม่แผ่วไปจนถึงสิ้นปี บ่งชี้ให้เห็นว่ายอดรวมรายปีจะแข็งแกร่งขึ้นอีกครั้งในปี 2566 นี้
สาเหตุที่ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำมากขึ้น เป็นผลมาจากความผันผวน และไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก โดยเฉพาะสงครามในตะวันออกกลาง ทำให้ธนาคารกลางสะสมทองคำมากขึ้น
ดีมานด์การลงทุนตลอดไตรมาสอยู่ที่ 157 ตัน เพิ่มขึ้น 56% เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่ยังนับว่าน้อยเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงห้าปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยหนุนจาก 2 องค์ประกอบ ได้แก่
1. ความต้องการทองแท่งและเหรียญทอง ซึ่งดีมานด์ส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคตะวันออก คือ ตุรกี และประเทศจีน
2.ความต้องการทองรูปพรรณ ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดของความต้องการทองคำทั้งหมด ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 516 ตัน เมื่อเทียบเป็นรายปี
ทั้งนี้ แนวโน้มราคาทองคำในอนาคต จะขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต่อราคาทองคำ Mr. Shaokai Fan หัวหน้าฝ่ายเอเชีย-แปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าฝ่ายธนาคารกลางระดับโลกของสภาทองคำโลก ให้ความเห็นว่า
การประกาศคงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และท่าทีของเจอโรม พาวเวลล์ ส่งสัญญาณให้ตลาดคาดการณ์ว่า อาจมีการยุติการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ จะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อราคาทองคำ แต่ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำในช่วงนี้ คือ สงครามในตะวันออกกลาง ซึ่งผลักดันให้ราคาทองคำสูงขึ้นอย่างฉับพลัน ทะลุ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับความต้องการทองคำในประเทศไทย พบว่า ในไตรมาสที่ 3/2566 ดีมานด์ในไทย เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งที่ 7% มาอยู่ที่ระดับ 13 ตัน จาก 12 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ความต้องการซื้อส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มทองคำแท่ง และเหรียญทอง ซึ่งเพิ่มขึ้น 10% มาอยู่ที่ระดับ 10.5 ตัน จาก 9.6 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยที่หนุนแรงซื้อดังกล่าว มาจากเงินบาทที่อ่อนค่าลง และความไม่แน่นอนทางการเมือง
ด้านความต้องการทองรูปพรรณ ลดลงเล็กน้อยที่ 2% มาอยู่ที่ระดับ 2.5 ตัน จาก 2.54 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากความผันผวนของราคา และการชะลอตัวของความต้องการซื้อของที่มีมูลค่าสูง เพราะผู้บริโภครัดเข็มขัดในการใช้จ่ายมากขึ้น
โดยคนไทยส่วนใหญ่ยังมองว่า การลงทุนในทองคำ ไม่ว่าจะเป็นทองรูปพรรณ หรือทองแท่ง เป็นการลงทุนเพื่อสะสมความมั่งคั่ง โดยผู้ลงทุนทองในไทย มีการติดตามความเคลื่อนไหวของราคาทองคำอยู่เสมอ