ราคาทองคำพุ่งไม่หยุด ทะลุ 2,000 ดอลลาร์ รับความกังวลสงครามและหนี้สหรัฐฯ พุ่ง

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ราคาทองคำพุ่งไม่หยุด ทะลุ 2,000 ดอลลาร์ รับความกังวลสงครามและหนี้สหรัฐฯ พุ่ง

Date Time: 27 ต.ค. 2566 15:04 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • นักลงทุนแห่ลงทุนสินทรัพย์ปลอดภัย ดันราคาทองคำพุ่งสู่ระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลผลกระทบสงครามอิสราเอล-ฮามาส และหนี้สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น

สำนักข่าว Nikkei รายงานว่า ความกังวลผลกระทบสงครามอิสราเอล-ฮามาส และหนี้สหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาทองคำกลับมาพุ่งสู่ระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง เมื่อวันพฤหัสบดี (26 ตุลาคม 2566) ตามเวลาสหรัฐฯ


โดยราคาทองคำล่วงหน้าตลาดนิวยอร์ก พุ่งสูงถึง 2,003 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทะลุระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เป็นครั้งที่สองในรอบสัปดาห์ ซึ่งเป็นระดับเดียวกับเมื่อสองเดือนก่อน และขยับเข้าใกล้ระดับ สูงสุดตลอดกาลที่ 2,089 ดอลลาร์ เดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งนี้เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ราคาทองคำได้ร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 1,820 ดอลลาร์ต่อออนซ์

อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำได้ปรับตัวสูงขึ้น ควบคู่ไปกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่พุ่งสู่ระดับ 5% สูงสุดในรอบ 16 ปี ซึ่งสะท้อนถึงความผิดปกติ เนื่องจากราคาทองคำมักสวนทางกับผลตอบแทนพันธบัตร


โดยปัจจัยเสี่ยงหลักที่ผลักดันราคาทองคำช่วงนี้ คือ สงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่เปิดฉากในฉนวนกาซาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ล่าสุดกองทัพอิสราเอลได้ออกแถลงการณ์ เตรียมความพร้อมโจมตีทางภาคพื้นดินเพื่อกวาดล้างกลุ่มฮามาสแบบเต็มรูปแบบ หลังจากชิมลางส่งกองทัพภาคพื้นดินเข้าโจมตีฐานทัพกลุ่มฮามาส ทางตอนเหนือของฉนวนกาซาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มความกังวลว่าการยกระดับสงครามครั้งนี้ อาจทวีความขัดแย้งให้ลุกลามไปทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง


ทำให้นักลงทุนแห่ลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ เช่นเดียวกับ ราคาทองคำที่พุ่งขึ้นสู่ระดับ 2,078 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในเดือนมีนาคม 2565 หลังรัสเซียเปิดฉากบุกยูเครนอย่างเต็มรูปแบบเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2565


ปัญหาหนี้สาธารณะในสหรัฐฯ ยังเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลต่อราคาทองคำ เป็นที่ทราบกันดีว่า ในปีนี้สหรัฐฯ เพิ่งหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 33 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องปิดทำการหรือชัตดาวน์

แต่หลังสภาคองเกรสอนุมัติกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ กระทรวงการคลังได้ออกขายพันธบัตรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้อุปสงค์และอุปทานพันธบัตรไม่สมดุล ประกอบกับการขึ้นดอกเบี้ยแบบเข้มข้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่แม้จะผลักดันให้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นสู่ระดับ 5% แต่นักลงทุนกลับเลือกลงทุนในทองคำแทน เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์หนี้สหรัฐฯ ที่มักจะถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง

อ้างอิง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์