ห่วงสงครามอิสราเอลหวั่นทำน้ำมันพุ่ง-เงินบาทอ่อน

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ห่วงสงครามอิสราเอลหวั่นทำน้ำมันพุ่ง-เงินบาทอ่อน

Date Time: 12 ต.ค. 2566 06:47 น.

Latest

ตลาดหุ้นอินเดีย สะเทือนครั้งใหญ่  หลังสหรัฐฯ ฟ้อง Gautam Adani ข้อหาฉ้อโกง กองทุนโลก จ่อเทขายเพิ่ม

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 3 ของปี 2566 เพื่อชี้แจงต่อนักวิเคราะห์ถึงการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกลับมาสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าใกล้จุดสมดุลอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการเติบโต และไม่ได้เป็นตัวฉุดเศรษฐกิจ

ส่วนการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปยังภาคเอกชนธนาคารพาณิชย์ได้แยกแยะการขึ้นดอกเบี้ยระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และเล็ก โดยดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ขึ้น 1.4% ส่วนเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี MRR ขึ้น 1% ขณะที่เมื่อเทียบกับต่างประเทศ ดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ของเราขึ้นน้อยกว่า ยกตัวอย่างดอกเบี้ยบ้านต่างประเทศขึ้น 4% ของไทยปรับขึ้น 1% จากระดับก่อนหน้า

ส่วนผลกระทบจากการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสนั้น นายปิติกล่าวว่า ขณะนี้ยังคาดเดาได้ยากว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร สิ่งที่น่าห่วง คือ หากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นและอยู่ระดับสูงสักระยะหนึ่ง จะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น และกดดันค่าเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ เมื่อเทียบกับดอลลาร์จะอ่อนค่าลง ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและน้ำมันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทย ช่วงที่ราคาน้ำมันในประเทศถูกอุดหนุนโดยรัฐบาล อาจทำให้ต้นทุนและภาระของกองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้น ทำให้อาจต้องปรับมาตรการภายในประเทศให้เหมาะสมด้วย

ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท.กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 2.8% และปี 67 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.4% ซึ่งในการประมาณการจีดีพีในปี 67 นั้นได้รวมผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐไว้เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ เศรษฐกิจในปีหน้าจะสูงขึ้นจากหลายแรงขับเคลื่อน และจะมีแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายของภาครัฐด้วย

ส่วนผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต จะมีผลต่อเศรษฐกิจในแง่การเพิ่มการบริโภคภาคเอกชนมากกว่า เห็นได้จากตัวเลขประมาณการการบริโภคภาคเอกชนในปีหน้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.6% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.9%.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ