กระทรวงแรงงานญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ค่าจ้างที่แท้จริงโดยเฉลี่ยในเดือนสิงหาคม หดตัวลง 2.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการหดตัวลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17
โดยรายได้ของคนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาสดอาหารและพลังงาน ที่พุ่งสู่ระดับ 3.1% ยืนเหนือกรอบอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ระดับ 2% เป็นเวลานานต่อเนื่องกว่า 17 เดือน
ในขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารญี่ปุ่น พบว่า กำลังใช้จ่ายของผู้บริโภคในญี่ปุ่นหดตัวลงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันในเดือนสิงหาคม สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการปรับขึ้นเงินเดือน ไม่เพียงพอที่จะฟื้นฟูกําลังซื้อของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ แม้ครัวเรือนตั้งแต่สองคนขึ้นไป มีการใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 1,970 ดอลลาร์ต่อเดือน ลดลง 2.5% จากปีก่อนหน้าก็ตาม
สอดคล้องกับผลสำรวจราคาอาหารของ Teikoku Databank ที่ทำการสำรวจบริษัทอาหาร 195 แห่ง พบว่า ผลิตภัณฑ์อาหารกว่า 4,634 รายการ ราคาปรับขึ้นในเดือนตุลาคม โดยประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารแปรรูป เช่น แฮม ตลอดจนไอศกรีมและขนมช็อกโกแลต
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานญี่ปุ่นได้ประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปีนี้ เป็น 1,004 เยน (250 บาท) ต่อชั่วโมง เพิ่มขึ้น 43 เยนจากปีที่แล้ว นับเป็นครั้งแรกที่ค่าแรงขั้นต่ำในญี่ปุ่นพุ่งสูงถึง 1,000 เยนต่อชั่วโมง ในเดือนเดียวกัน ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ประกาศแผนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยเฉลี่ยเป็น 1,500 เยน (370 บาท) ต่อชั่วโมง ภายในช่วงกลางทศวรรษ 2030
อ้างอิง