สำนักข่าว Nikkei รายงานว่า ความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น จากราคาน้ํามันดิบที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันระหว่างประเทศที่ลดลง และความต้องการน้ำมันในจีนที่สูงเป็นประวัติการณ์
โดยราคาซื้อขายน้ำมันดิบ WTI ล่วงหน้า พุ่งสูงขึ้นประมาณ 95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ซึ่งหากราคายังอยู่ใกล้เคียงระดับเดิมจนถึงสิ้นเดือน อาจทำให้ราคาน้ำมันดิบรายไตรมาสพุ่งขึ้นสูงที่สุด ตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 โดยหนึ่งในปัจจัยหนุนมาจากการลดลงของอุปทานน้ํามันอย่างฉับพลัน
ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันชั้นนำในกลุ่มโอเปก (OPEC) ได้ประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงเหลือ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งมีสัดส่วนเป็น 1% ของความต้องการน้ำมันทั่วโลก ในขณะที่รัสเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ํามันรายใหญ่อันดับสามของโลกได้ประกาศลดการส่งออกในเดือนสิงหาคม
ต่อมาช่วงกลางเดือนสิงหาคม ราคาน้ํามันดิบพุ่งมาอยู่ที่ระดับ เหนือ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประมาณการว่า นี่คือระดับราคาที่ซาอุดีอาระเบียต้องการ เพื่อสร้างสมดุลให้กับงบประมาณ ในขณะที่ผู้สังเกตการณ์ตลาดบางคนคาดว่าซาอุดีอาระเบียจะเริ่มเพิ่มกำลังการผลิตในเดือนตุลาคม
ล่าสุดเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบียตัดสินใจที่จะลดการผลิตน้ำมันจนถึงสิ้นปีนี้ เช่นเดียวกับรัสเซียที่ประกาศลดการส่งออก
ในขณะเดียวกัน ความต้องการน้ำมันดิบในประเทศจีนกำลังพุ่งสูงขึ้นเหนือความคาดหมาย ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจในประเทศ
ล่าสุดองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency, IEA) คาดการณ์ว่าความต้องการน้ำมันดิบของจีนในปีนี้จะแตะระดับ 16.29 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 3% จากการคาดการณ์ในเดือนมกราคมที่ 15.89 ล้านบาร์เรล และคิดสัดส่วนกว่า 70% ของความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก
ข้อมูลจากกรมศุลกากรจีน พบว่า การนําเข้าน้ํามันดิบของจีนเพิ่มขึ้น 21% ในเดือนสิงหาคม ในขณะที่ผลผลิตโรงกลั่นน้ํามันของประเทศแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.09 ล้านตันต่อวันในเดือนสิงหาคมเช่นกัน
ราคาน้ํามันดิบที่พุ่งสูงขึ้นได้เพิ่มความกังวลให้กับอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง
เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)
กล่าวว่า
"ราคาพลังงานเป็นสิ่งสําคัญมากสําหรับผู้บริโภค" ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น จะส่งผลกระต่อการใช้จ่าย
และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างแน่นอน"
โดยราคาน้ํามันเบนซินเป็นตัวบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อสำหรับผู้บริโภคที่ชัดเจนที่สุด
ตามรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) พบว่า ปัจจุบันราคาขายน้ำมันเบนซินอยู่ในระดับต่ำที่ 3.80 ดอลลาร์สหรัฐต่อแกลลอน ซึ่งเพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 20% จากต้นปี 2566
อ้างอิง