ปัญหาว่างงานในเด็กจบใหม่ ไม่ใช่แค่งานไม่พอ แต่วัยรุ่นในจีนยังไม่พร้อมทำงาน

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ปัญหาว่างงานในเด็กจบใหม่ ไม่ใช่แค่งานไม่พอ แต่วัยรุ่นในจีนยังไม่พร้อมทำงาน

Date Time: 24 ก.ค. 2566 17:57 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง อัตราการว่างงานที่สูงในเด็กจบใหม่ กลายเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจจีนในปีนี้ นอกจากแรงงานคนรุ่นใหม่ที่ไม่ตอบสนองความต้องการตลาด อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือ การเกิดเทรนด์การชะลอการเข้าสู่ตลาดแรงงานหรือที่เรียกว่า "ถ่างผิง" ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านวัฒนธรรมการทำงานในสังคมจีน

Latest


เรียกว่าเป็นครึ่งปีแรกที่ไม่สดใสนัก สำหรับเศรษฐกิจจีนที่ชะลอการเติบโตลงจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลง และผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจจีนในปีนี้คือ ปัญหาอัตราการว่างงานที่สูงในเด็กจบใหม่ 

จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา พบว่า อัตราว่างงานเด็กจบใหม่ในเขตเมือง เดือนมิถุนายน พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 21.3% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดนับตั้งแต่ทางการจีนเริ่มเผยแพร่ข้อมูลเมื่อปี 2561 และพุ่งสูงสุดเป็นเวลาสามเดือนติดต่อกันตั้งแต่เดือนเมษายน 

นอกจากนี้ อัตราว่างงานดังกล่าวยังสูงกว่าอัตราการว่างงานในเขตเมืองทั่วประเทศถึง 4 เท่า ซึ่งตัวเลขยังทรงตัวในเดือนมิถุนายนที่ 5.2%

จาง ดาน ดาน (Zhang Dandan) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่ที่อายุระหว่าง 16-24 ปี อาศัยอยู่ในเขตเมืองจำนวน 96 ล้านคน และกว่า 1 ใน 5 นั้นเป็นผู้ว่างงาน โดยมีคนรุ่นใหม่เพียง 33 ล้านคนเท่านั้นที่อยู่ระหว่างการหางาน ส่วนอีก 48 ล้านคนเป็นนักเรียน ในขณะที่ 16 ล้านคนที่เหลือไม่สามารถระบุสถานะได้ และเมื่อรวมกับกลุ่ม NEET หรือบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในสถานะเรียน ทำงาน หรือฝึกงานใดๆ อาจทำให้อัตราการว่างงานในเด็กจบใหม่สูงถึง 46.5% หรือประมาณ 22 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนที่รัฐบาลจีนประกาศที่ 6 ล้านคน 

สาเหตุหลักที่ทำให้อัตราการว่างในเด็กจบใหม่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ คือ วุฒิการศึกษาเด็กจบใหม่ไม่สอดคล้องกับความต้องการตลาดแรงงาน ทำให้มีจำนวนงานรองรับไม่เพียงพอกับจำนวนแรงงานคนรุ่นใหม่ 

.

อีกสาเหตุที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่บั่นทอนเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศ คือ การเกิดขึ้นของเทรนด์ “ถ่างผิง (Tang Ping)” ที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการหาสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตมากขึ้น โดยบางคนเลือกที่จะรับจ๊อบทำงานระยะสั้น และท่องเที่ยวสะสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ หรือกลับบ้านไปอยู่กับพ่อแม่เพื่อค้นหาเป้าหมายของตัวเอง ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นไปเพื่อต่อต้านวัฒนธรรมการทำงานหนักแบบถวายหัวที่ฝังรากลึกมานานในสังคมจีน 

เทรนด์ดังกล่าวทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากที่ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เรียกร้องให้คนรุ่นใหม่อดทนต่อความยากลำบาก และมองว่าปัญหาการอัตราการว่างที่สูงในเด็กจบใหม่นั้นเกิดขึ้นจากคนรุ่นใหม่ใช้เวลาหางานมากขึ้น จนเกิด “การจ้างงานที่ช้า” 

เมื่อต้องเผชิญกับแรงกดดันจากตลาดงานที่ไม่ตอบโจทย์ และค่าจ้างที่ลดน้อยลง ทำให้คนรุ่นใหม่หลายคนเลือกที่จะชะลอการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ข้อมูลสถิติแรงงานประจำปี 2564 ของรัฐบาลจีน ระบุว่า สาเหตุการว่างงานในเด็กจบใหม่กว่า 68% เป็นการลาออกโดยสมัครใจ ซึ่งมากกว่าในแรงงานกลุ่มอายุ 35-59 ปี ที่ระดับ 37% 

การประเมินของ Barclays PLC สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่สัญชาติอังกฤษนี้ ยังแสดงให้เห็นว่าในปีที่แล้วประมาณ 20% ของผู้สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในสาขาบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ และการเงิน ได้รับการจ้างงานเพียง 6% ของการจ้างงานทั้งหมด เป็นผลมาจากสายงานยอดนิยมในหมู่เด็กจบใหม่ที่เติบโตน้อยลง โดยเฉพาะสายการเงินและเทคโนโลยี ซึ่งถูกรัฐบาลจีนเข้าแทรกแซงและควบคุมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้เทรนด์ชะลอการทำงานในหมู่คนรุ่นใหม่ยังได้รับแรงสนับสนุนจากผู้ปกครอง โดยเฉพาะครอบครัวที่มีความมั่งคั่งที่ไม่ต้องการเห็นลูกตัวเองพบเจอกับความยากลำบากในการทำงาน จนไม่มีเวลาให้ครอบครัว และหาคู่ครอง

จะเห็นได้ว่าปัญหาการว่างงานของเด็กจบใหม่ในจีนนั้นมีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนในหลายมิติ ดังนั้นการแก้ปัญหาด้วยการออกมาตรการกระตุ้นในรูปแบบเดิมไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ เนื่องจากคนรุ่นใหม่มีแนวคิดและพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากคนรุ่นเก่าอย่างสิ้นเชิง ซึ่งนับเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญสำหรับรัฐบาลจีน.

อ้างอิง

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics
เศรษฐกิจนในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ