ในวันที่แรงงานหนุ่มสาวขาดแคลน บริษัทญี่ปุ่นทำอย่างไร มัดใจคนสูงวัยให้ทำงาน

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ในวันที่แรงงานหนุ่มสาวขาดแคลน บริษัทญี่ปุ่นทำอย่างไร มัดใจคนสูงวัยให้ทำงาน

Date Time: 19 ก.ค. 2566 10:52 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • ในช่วง 10 ปีมานี้ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในประเด็นใหญ่ระดับโลกที่ถูกพูดถึงมากที่สุด เนื่องจากส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ทำให้หลายประเทศต้องหาแนวทางรองรับเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคต ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศแรกในโลกที่เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2537 ได้ออกกฎหมายขยายอายุเกษียณ กระตุ้นให้บริษัทต่างๆ พยายามเสนอสิทธิประโยชน์ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มแรงงานสูงวัยกลับมาทำงาน

ในช่วง 10 ปีมานี้ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในประเด็นใหญ่ระดับโลกที่ถูกพูดถึงมากที่สุด เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสังคมโลกในหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ และทำให้หลายประเทศที่มีอัตราการเกิดน้อย ต้องหาแนวทางรองรับเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคต

ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกในโลกที่เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2537 จึงประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานวัยหนุ่มสาวอย่างรุนแรง เนื่องจากประชากรวัยทำงานอายุต่ำกว่า 60 ปี มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ

สถาบัน Recruit Works จึงมีการคาดการณ์ว่า ญี่ปุ่นจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานถึง 11 ล้านคนภายในปี 2583 จะเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนแรงงานสูงอายุ ที่มีอายุระหว่าง 65-69 ปี เพิ่มขึ้น 50.8% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

จากรายงานล่าสุดของกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น พบว่า ในปี 2565 ญี่ปุ่นนี้มีแรงงานอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 14.54 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 21.6% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ และคาดว่าอัตราการจ้างงานในผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต โดยธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาตลาดแรงงานตึงตัวมากที่สุดในบรรดาอุตสาหกรรมอื่นๆ  

การคงไว้ ซึ่งแรงงานสูงอายุจึงถูกมองว่าเป็นหนทางหนึ่งในการบรรเทาแรงกดดันด้านแรงงานทำให้ตั้งแต่ปี 2564 รัฐบาลญี่ปุ่นออกกฎหมายบังคับให้บริษัทต่างๆ ขยายเกณฑ์อายุการรับเข้าทำงาน จากจำกัดถึงแค่อายุ 60 ปี เป็น 70 ปี กระตุ้นให้บริษัทในอุตสาหกรรมต่างๆ พยายามขยายสวัสดิการและเพิ่มสิทธิประโยชน์ เพื่อรักษาแรงงานสูงวัยเหล่านี้ให้ทำงานต่อ

ไม่ว่าจะเป็นบริษัทผลิตสารเคมีรายใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง Sumitomo Chemical ที่ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไปจะค่อยๆ เพิ่มอายุเกษียณ จากปัจจุบันอยู่ที่วัย 60 ปี เป็น 65 ปี ให้กับพนักงานที่อยู่ในตำแหน่งการขาย การผลิต และผู้เชี่ยวชาญ โดยค่าจ้างรายปีจะเป็นเรตเดียวกับเรตเงินเดือนก่อนอายุเกษียณ ทั้งที่ก่อนหน้านี้บริษัท Sumitomo  ได้อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป กลับมาสมัครงานใหม่ได้ ในสัดส่วน 40-50%

ทั้งนี้ ปัจจุบันพนักงาน Sumitomo มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วน 3% ของพนักงานทั้งหมด และคาดว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นสูงถึง 17% ภายในทศวรรษนี้

อีกทั้งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา Toridoll Holdings บริษัทเจ้าของเชนอุด้งชื่อดัง  Marugame Seimen ได้ขยายเกณฑ์อายุสำหรับตำแหน่งหัวหน้างานเป็นไม่เกิน 70 ปี จากเดิมกำหนดไว้ที่ 65 ปี อีกทั้งยังยกเลิกการจำกัดอายุสำหรับพนักงานพาร์ทไทม์ที่มีประสบการณ์ทำงานมาแล้ว นอกจากนี้บริษัทบางแห่งในญี่ปุ่นกำลังพิจารณาที่จะยกเลิกข้อบังคับการสิ้นสุดอายุงานในตำแหน่งผู้บริหาร 

แม้การเพิ่มสิทธิประโยชน์และสวัสดิการ จะเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถดึงดูดแรงงานสูงวัยเพื่อแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนได้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นช่องว่างให้หลายบริษัท ใช้วิธีนี้กลั่นแกล้ง และเอาเปรียบพนักงานกลุ่มนี้ด้วยการจ่ายเงินให้พวกเขาน้อยลง หรือจำกัดตำแหน่งงานในบริษัท เพื่อลดแรงจูงใจในการทำงาน

อ้างอิง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์