สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน เปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่สองปี 2566 พบว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเติบโตขึ้นเพียง 0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัว 6.3% เพิ่มขึ้นจากระดับ 4.5% ในไตรมาสแรกของปีนี้ แต่ยังต่ำกว่าระดับที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 7.3%
ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีน หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ภาคส่งออกในเดือนมิถุนายนยังมีตัวเลขที่ไม่ดีนัก โดยลดลงมากที่สุดในรอบ 3 ปี เนื่องจากอุปสงค์ลดลงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นเรือธงสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจจีน ยังตกต่ำลงและบั่นทอนความเชื่อมั่นภาครัฐ ทำให้โมเมนตัมการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมยังอ่อนแอ
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จึงให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า รัฐบาลจีนมีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป แทนที่จะใช้มาตรการกระตุ้นเชิงรุกใดๆ เนื่องจากอาจซ้ำเติมความเสี่ยงด้านหนี้สินที่เพิ่มขึ้น และบิดเบือนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทำให้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14 ก.ค.) เจ้าหน้าที่อาวุโสของธนาคารกลางจีน กล่าวว่า ธนาคารกลางจะใช้เครื่องมือนโยบายทางการเงิน เช่น อัตราส่วนสำรองขั้นต่ำ (RRR) และวงเงินกู้ระยะกลางเพื่อรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ หลังจากที่เดือนที่แล้วธนาคารกลางได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐานลง 10 เบสิสพอยต์ หรือ 0.10%
ขณะที่วันนี้ (17 ก.ค.) ธนาคารกลางจีนประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) หรืออัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนไว้ที่ 2.65% และจะดำเนินการอัดฉีดเงินทุนใหม่เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง จำนวน 3 พันล้านหยวน (ประมาณ 1.44 ล้านบาท) เข้าสู่ระบบธนาคาร นอกจากนี้ยังได้อัดฉีดเงิน 3.3 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 1.59 แสนล้านบาท) ผ่านการ reverse repo ระยะ 7 วัน และคงอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมไว้ที่ 1.90%.