ไม่นานมานี้ นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) เปิดการจัดอันดับมหาเศรษฐีโลกประจำปี 2566 โดย “เบอร์นาร์ด อาโนลด์” CEO ของ บริษัทแอลวีเอ็มเอช โมเอต์ เฮนเนสซี่ หลุยส์ วิตตอง (LVMH) ครองตำแหน่งมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยเป็นอันดับ 1 ของโลก รองลงมาคือ “อีลอน มัสก์” ผู้ก่อตั้งบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง เทสลา และ สเปซเอ็กซ์ ส่วนอันดับ 3 คือ “เจฟฟ์ เบซอส” ผู้ก่อตั้งบริษัทแอมะซอน
ล่าสุด ฟอร์บส์ ประเทศไทย ก็เพิ่งประกาศผลการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทย โดยผลที่ออกมามีทั้งเศรษฐีหน้าเก่า และเศรษฐีหน้าใหม่ ผู้ที่มีความมั่งคั่ง ถูกบรรจุอยู่ในทำเนียบผู้ครอบครองทรัพย์สินมากที่สุดในประเทศ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
แต่ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นเหล่าตระกูลธุรกิจดังเก่าแก่ทั้งสิ้น ความรวยอู้ฟู่อย่างตระกูล “เจียรวนนท์” เจ้าของอาณาจักร CP ได้ขึ้นแท่นเบอร์ 1 เหนือตาราง จากการมีทรัพย์สินมหาศาลถึง 34,000 ล้านบาท หรือประมาณ 1.19 ล้านล้านบาท
ตระกูล “อยู่วิทยา” เจ้าของกลุ่มบริษัทกระทิงแดงและครอบครัว เบอร์ 2 ก็ครองทรัพย์สินรวมกันถึง 33,400 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.16 ล้านล้านบาท ขณะเบอร์ 3 ตระกูล “สิริวัฒนภักดี” เจ้าของเบียร์ช้างและบริษัทในเครือ มีทรัพย์สินรวม 13,600 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 476,000 ล้านบาท
ตัวเลขทรัพย์สินมหาศาลเช่นนี้อาจต้องยอมรับว่าล้วนมาจากการค้าและการลงทุนแบบมีชั้นเชิง คิดแบบเจ้าสัว ทำแบบเจ้าสัว ทุ่มเท และกล้าได้กล้าเสีย...
ยึดโยงข้อมูล หากมองภาพใหญ่ยังมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ครอบครัวมหาเศรษฐีทั่วโลกมี ‘ความรวย’ เป็นมรดกตกทอด และธุรกิจอยู่รอดได้ แม้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่มีบริษัทน้อย-ใหญ่ล้มไม่เป็นท่า
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดย ดร.บดินทร์ บดีรัฐ ถอดบทความวิจัยเกี่ยวข้อง : Inherited Corporate Control, Inequality and the COVID Crisis โดยชี้ว่า หลายประเทศทั่วโลกทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา พบธุรกิจเอกชนมักอยู่ในการครอบครองของครอบครัวมหาเศรษฐีขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ครอบครัว (เห็นจะเป็นเรื่องจริง)
ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วครอบครัวนักธุรกิจที่มั่งคั่งเหล่านี้ควบคุมกิจการของบริษัทมหาชนกว่า 30% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด หันมามองประเทศไทย ข้อมูลปลายปี 2019 ชี้ว่า กิจการมหาชนกว่า 38% ของมูลค่าตลาดทั้งหมดในไทยถูกควบคุมโดยครอบครัวนักธุรกิจขนาดใหญ่เพียง 10 ครอบครัว
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ จากข้อมูลกว่า 60 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ยังพบว่าวิกฤติโควิด-19 ทำให้ทรัพย์สินของมหาเศรษฐีเติบโตเร็วกว่าตลาดถึง 23.6% ขณะเดียวกันก็ทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างมหาเศรษฐีกับประชาชนทั่วไปเพิ่มขึ้นอย่างมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพย์สินของทายาท (ลูก-หลาน) กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศรายได้ต่ำ หรือกำลังพัฒนา ที่เติบโตเร็วกว่าตลาดถึง 43.7%
คำถามสำคัญ คือ ครอบครัวมหาเศรษฐีแบบไหนที่ “มีแนวโน้ม” ที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และครอบครัวมหาเศรษฐีแบบไหนที่ “มีแนวโน้ม” ที่จะส่งผลเสีย?
พบนักธุรกิจที่มีความคิดสร้างสรรค์จะลงทุนในนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ของตนเอง ในบทความนี้ชี้ให้ลองนึกถึงบริษัท Apple ของ Steve Jobs ที่ลงทุนสร้าง iPhone
ซึ่งเมื่อนวัตกรรมใหม่ๆ เหล่านี้ประสบความสำเร็จ จะมาแทนที่ หรือทำลายล้างนวัตกรรมเก่าๆ (นึกถึงมูลค่าของบริษัท Blackberry ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจาก iPhone เข้าสู่ตลาด) เศรษฐกิจโดยรวมจึงมีผลิตภาพเพิ่มขึ้นและเติบโตได้เร็วขึ้น
ทฤษฎีการทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ จึงชี้ให้เห็นว่า มหาเศรษฐีนักธุรกิจรุ่นแรก หรือผู้ก่อตั้งกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ประสบความสำเร็จนั้น “มีแนวโน้ม” ที่จะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวมมากกว่า
หากแต่เมื่อกลุ่มบริษัทของมหาเศรษฐีเหล่านี้มีอายุมากขึ้น มหาเศรษฐีเหล่านี้จำใจต้องส่งต่อบริษัทของตนให้แก่ทายาท หรือคนในครอบครัว โดยทายาทกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้อาจจะไม่มีความสามารถในการบริหารธุรกิจได้ดีเท่ากับพ่อแม่ของตน
ภาพที่เกิดขึ้น คือ ผลกำไรของบริษัทกลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกรณีที่ผู้ก่อตั้งบริษัทมีการแต่งตั้งให้นักบริหารมืออาชีพนอกครอบครัวมาเป็น CEO
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการส่งต่อความสามารถทางธุรกิจผ่านทางสายเลือดจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่การส่งต่อเส้นสาย (connections) ทางธุรกิจ หรือการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่ามาก
ทายาทมหาเศรษฐีมักจะเติบโตมาในครอบครัวที่รายล้อมด้วยมหาเศรษฐี หรือนักการเมืองคนสำคัญ เท่ากับ ทายาทมหาเศรษฐีเหล่านี้ย่อมมีเส้นสายที่แข็งแกร่งกว่านักธุรกิจทั่วไป ทำให้พวกเขาเหล่านี้ “มีแนวโน้ม” ที่จะรักษาธุรกิจของตัวเองให้อยู่รอดโดยการใช้เส้นสายมากกว่าการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ
“ในประเทศกำลังพัฒนา เส้นสายทั้งทางธุรกิจและการเมืองดังกล่าวมักจะมีมูลค่าสูงมากในช่วงเวลาวิกฤติ และอาจส่งผลให้บริษัทที่มีเส้นสายได้รับการสนับสนุนทางการเงินที่ช่วยพยุงธุรกิจให้อยู่รอดได้มากกว่าบริษัทที่ไม่มีเส้นสาย”
เจาะในช่วงโควิด-19 เราเคยได้ยินข่าวว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างมหาเศรษฐีกับประชาชนทั่วไปเพิ่มขึ้นอย่างมาก สอดคล้องข้อมูลช่วงปี 2020 ที่พบว่ามหาเศรษฐีรุ่นทายาทและรุ่นก่อตั้งมีทรัพย์สินเติบโตเร็วกว่าตลาดหลักทรัพย์ถึง 15.1% และ 17.2% ตามลำดับ
กลายเป็นคำถามอีกเช่นกันว่า : เพราะเหตุใดมูลค่าของทรัพย์สินของมหาเศรษฐีเหล่านี้จึงมีค่าเพิ่มขึ้นแม้ในช่วงวิกฤติ?
1.มหาเศรษฐีเจ้าของธุรกิจที่มีทรัพยากรในกำกับมากสามารถรักษาธุรกิจของตนไว้ได้ แต่ในขณะเดียวกัน บุคคล หรือนักธุรกิจธรรมดาทั่วไปกลับได้รับผลกระทบที่รุนแรงจนบางแห่งสูญเสียธุรกิจของตนไป
กล่าวให้เห็นภาพ กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่สามารถโยกย้ายทรัพยากร เช่น เงินสด จากบริษัทที่ได้รับผลกระทบน้อย ไปหาบริษัทที่ได้รับผลกระทบมากได้ โยกย้ายทรัพยากรภายในกลุ่มบริษัท เพื่อช่วยพยุงกิจการ
2.ประเทศรายได้ต่ำ มักมีกฎหมาย หรือกฎระเบียบที่เอื้อต่อผู้มีอำนาจ หรือเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่
“บริษัทที่มีเส้นสายทางการเมืองจะมีโอกาสได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจมากกว่าบริษัทที่ไม่มีเส้นสาย”
ในทางกลับกัน ในประเทศรายได้สูง กฎหมาย หรือกฎระเบียบที่เอื้อต่อมูลค่าของเส้นสายนั้นมีผลน้อย มูลค่าของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นของมหาเศรษฐีจึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการโยกย้ายจัดการทรัพยากรในกำกับของตนเสียเป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ดี ดร.บดินทร์ แนะว่า การมีระบบการเงินที่เข้มแข็ง เช่น การมี หรือบังคับใช้กฎหมายที่ปกป้องผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อย่างแข็งขัน หรือการให้สินเชื่อโดยพิจารณาจากศักยภาพของบริษัทมากกว่าความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหน้าที่ธนาคาร สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้บริษัทที่มีศักยภาพในการสร้างกระแสการเงินที่ดี แต่ไม่มีเส้นสายได้รับทุนที่ช่วยพยุงให้บริษัทเหล่านี้อยู่รอดต่อไปได้ในภาวะวิกฤติ ส่งผลให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมต่อไปหลังจากภาวะวิกฤติในอนาคต.