จีนคุมส่งออก 2 แร่หายาก หวังโต้สหรัฐฯ เตรียมลดส่งออกชิป นักวิเคราะห์ชี้อาจได้ไม่คุ้มเสีย

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

จีนคุมส่งออก 2 แร่หายาก หวังโต้สหรัฐฯ เตรียมลดส่งออกชิป นักวิเคราะห์ชี้อาจได้ไม่คุ้มเสีย

Date Time: 5 ก.ค. 2566 17:27 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • สงครามชิประหว่างจีน สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศพันธมิตร ยังยืดเยื้อ หลังเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์จีนประกาศจำกัดการส่งออกแร่แกลเลียม เจอร์เมเนียม ไปต่างประเทศ เพื่อตอบโต้มาตรการกีดกันการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงจากสหรัฐฯ และพันธมิตร แต่การเดินเกมแบบเดิมในฐานะผู้ครอบครองแร่สำคัญหายากรายใหญ่ของโลก อาจเป็นดาบสองคม ส่งผลกระทบให้ส่วนแบ่งการตลาดการส่งออกแร่หายากของจีนในตลาดโลกลดลง

สงครามชิประหว่างจีน สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศพันธมิตร ยังยืดเยื้อ หลังเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์จีนได้ประกาศจำกัดการส่งออกแร่โลหะสำคัญ 2 ชนิด ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตชิป ยานยนต์ไฟฟ้า และอุปกรณ์ด้านโทรคมนาคม ไปยังต่างประเทศ ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง การเคลื่อนไหวครั้งนี้แม้จะเป็นการใช้ความได้เปรียบของจีนในฐานะผู้ครอบครองแร่สำคัญหายากรายใหญ่ของโลก เพื่อตอบโต้มาตรการกีดกันการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงจากสหรัฐฯ และพันธมิตร แต่การเดิมเกมในฐานะผู้คุมเกม ก็อาจจะเป็นดาบสองคมที่ส่งผลกระทบย้อนกลับมาได้เช่นกัน

 

แถลงการณ์จากกระทรวงพาณิชย์จีน ระบุให้ผู้ส่งออกแร่แกลเลียมและเจอร์เมเนียม รวมถึงสารประกอบทางเคมี ต้องยื่นขอใบอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ หากต้องการดำเนินการจัดส่งแร่โลหะดังกล่าวไปยังต่างประเทศ โดยจะต้องรายงานรายละเอียดของผู้สั่งซื้อ รวมถึงจุดประสงค์ในการสั่งซื้อของพวกเขาด้วย โดยกฎหมายดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป 


การเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน มีข่าวออกมาว่า กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ กำลังเร่งพิจารณาแผนหยุดการส่งออกชิป GPU ของ Nvidia และบริษัทผู้ผลิตชิปเจ้าอื่นๆ ในสหรัฐฯ ไปยังลูกค้าในจีนอย่างเร็วที่สุดภายในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นผลพวงมาจากมาตรการควบคุมการส่งออกเพื่อสกัดกั้นการพัฒนาอุตสาหกรรมชิป และการเพิ่มขีดความสามารถทางการทหารของจีนที่ประกาศโดยฝ่ายบริหารของ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ในขณะที่ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เตรียมเดินทางเยือนประเทศจีนเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในวันที่ 6-9 กรกฎาคมนี้

ด้านสำนักข่าว Bloomberg ให้ความเห็นว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจทำให้ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง อยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะการจำกัดการส่งออกแร่โลหะทั้งสองชนิดจะกระตุ้นให้สหรัฐฯ และยุโรปได้เปรียบในการผลักดันให้ประเทศต่างๆ กระจายความเสี่ยงห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นจะส่งผลให้ส่วนแบ่งการส่งออกแร่สำคัญหายากของจีนในตลาดโลกลดลง เพราะสิ่งนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2553 เมื่อจีนตัดสินใจลดโควตาส่งออกแร่หายากไปยังญี่ปุ่น เพื่อตอบโต้กรณีพิพาทกันเรื่องหมู่เกาะไดอาวยุ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้เองเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้หลายประเทศแข่งขันกันหาวัตถุดิบจากประเทศอื่นมาทดแทนวัตถุดิบจากจีน และกระตุ้นให้สัดส่วนกำลังการผลิตแร่หายากในออสเตรเลียและสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา ส่งผลให้ในปี 2565 จีนมีสัดส่วนการผลิตแร่หายากโดยรวมในห่วงโซ่อุปทานโลกลดลง 70% จากช่วงที่พีคสุด 98% ในปี 2553 ตามรายงานของ US Geological Survey 

แม้ปัจจุบันจีนจะมีสัดส่วนการผลิตแร่แกลเลียมประมาณ 94% ของการผลิตแกลเลียมทั่วโลก จากข้อมูลของ UK Critical Minerals Intelligence Centre และสามารถขายได้ในราคาถูก แต่ก็ยังมีต้นทุนค่อนข้างสูงในการสกัด อีกทั้งแร่โลหะทั้งสองชนิดนี้ไม่ได้หายากมากนัก เพราะยังมีประเทศอื่นที่มีความสามารถในการผลิตแม้อาจจะไม่เทียบเท่าจีน โดยประเทศที่มีการผลิตแร่แกลเลียม ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย และยูเครน ส่วนแร่เจอร์เมเนียมก็มีการผลิตในแคนาดา เบลเยียม สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย.

อ้างอิง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์