อินโดนีเซีย แนะอาเซียน เป็นศูนย์กลางดูแลสุขภาพแข่งกับจีนได้ แต่ต้องร่วมมือระดับภูมิภาค

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

อินโดนีเซีย แนะอาเซียน เป็นศูนย์กลางดูแลสุขภาพแข่งกับจีนได้ แต่ต้องร่วมมือระดับภูมิภาค

Date Time: 1 มิ.ย. 2566 15:45 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนและสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย มองว่าอาเซียนสามารถเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาด้านการดูแลสุขภาพระดับโลกได้ แต่ต้องมีการผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ในระดับภูมิภาค เพื่อปลดล็อกการลงทุนและนวัตกรรม

Arsjad Rasjid ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนและสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า อาเซียนสามารถเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาด้านการดูแลสุขภาพระดับโลกได้ หากมีการผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ในระดับภูมิภาค


การเปลี่ยนอาเซียนให้เป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาด้านการดูแลสุขภาพระดับโลกนั้น จะต้องใช้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) มากขึ้น เพื่อปลดปล่อยการลงทุนในสถานบริการด้านสุขภาพมากขึ้น และเพื่อปลดล็อกการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมสำหรับการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันด้านสุขภาพในภูมิภาค


ความแข็งแกร่งของศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาสุขภาพของอาเซียน ขึ้นอยู่กับขนาดและความหลากหลายของประชากร เศรษฐกิจที่กำลังขยายตัว และการพัฒนาความสามารถทางวิทยาศาสตร์อย่างรวดเร็ว


ทั้งนี้ ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก อาเซียนเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรโลกประมาณ 26% แต่ในปี 2564 อาเซียนกลับเป็นที่ตั้งของการทดลองทางคลินิกทั่วโลกคิดเป็นสัดส่วนเพียง 16% เท่านั้น และมักถูกมองข้ามศักยภาพการวิจัย เนื่องจากการรับรู้ความสามารถในการวิจัยที่ต่ำลง ความกระจัดกระจายของกฎระเบียบและเครือข่ายทางวิทยาศาสตร์ภายในภูมิภาค ที่ผ่านมาแม้รัฐบาลแต่ละประเทศจะทำงานอย่างหนักเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพและยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่คนในอาเซียนมีอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคเบาหวานและมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งซ้ำเดิมปัญหาโรคติดต่อเขตร้อนภายในภูมิภาคที่มีอยู่แล้ว อย่างโรคไข้เลือดออกและมาลาเรีย


อย่างไรก็ตาม โดยเฉลี่ยแล้วการจัดหาเงินทุนด้านสุขภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงต่ำกว่าระดับของสมาชิกกลุ่ม BRIC อย่างบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน

โดยแต่ละประเทศมีความซับซ้อนในการกำกับดูแลด้านสาธารณสุขที่แตกต่างกันไป กฎระเบียบเชิงโครงสร้างจึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการกำหนดกลยุทธ์ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ภายในภูมิภาคแบบครบวงจร และการเสริมสร้างหน่วยงานกำกับดูแลในภูมิภาค เพื่อรองรับการทดลองทางคลินิกและโอกาสในการผลิตมากขึ้น จะต้องใช้งบประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน้อยกว่า 1% ของการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขในภูมิภาคในปัจจุบัน ดังนั้นการปฏิรูปกฎระเบียบให้มีความโปร่งใสและตรงเป้าหมายเป็นมาตรฐานร่วมกันทั้งภูมิภาค ไม่เพียงกระตุ้นการลงทุนเท่านั้น แต่ยังช่วยรับประกันคุณภาพของสถานบริการเอกชนที่ให้บริการทางการแพทย์


มาเลเซีย ถือเป็นประเทศตัวอย่างที่สามารถนำแนวปฏิบัติมาปรับใช้ตามหลักการผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เพื่อปรับปรุงการวิจัยและพัฒนาด้านการดูแลสุขภาพในภูมิภาคอาเซียนได้ เช่น การจัดตั้ง Clinical Research ของรัฐบาลโดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนเครือข่ายการวิจัยทางคลินิก และได้สร้างกลไกความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อยกระดับการวิจัยในประเทศ ซึ่งจะช่วยปรับปรุงขีดความสามารถ และเพิ่มจำนวนการทดลองทางคลินิกในประเทศ


การที่อาเซียนจะสามารถกลายเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาด้านการดูแลสุขภาพระดับโลก เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันกับจีนและอินเดียได้นั้น ขึ้นอยู่กับการขยายขีดความสามารถด้านการผลิต ในอุตสาหกรรมสุขภาพให้มีความยืดหยุ่น ด้วยการปรับกฎระเบียบ และนโยบายระดับภูมิภาคให้สอดคล้องกัน รวมถึงการผลักดันให้มีการเข้าถึงบริการสุขภาพในท้องถิ่น โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทและพื้นที่พัฒนาน้อย ซึ่งภาคเอกชนสามารถเติมเต็มช่องว่างด้วยการลงทุนในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ


ภาคเอกชนยังสามารถสนับสนุนการเข้าถึงการรักษาที่ดีขึ้นผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพทย์ทางไกล Telemedicine ช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถให้การสนับสนุนแก่คลินิกปฐมภูมิ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลได้ แต่เพื่อกระตุ้นการลงทุนในการแพทย์ทางไกลของอาเซียน จำเป็นต้องมีแนวปฏิบัติเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนและสร้างความคุ้มครองที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแล


ด้วยความร่วมมือกับบริษัทเอกชน อาเซียนจะสามารถดึงดูดการลงทุนที่สำคัญ ความรู้ และนวัตกรรมมาสู่อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพได้ ซึ่งจะช่วยปรับปรุงคุณภาพการบริการให้กับประชากรในภูมิภาค ผ่านกลไกการระดมทุนที่หลากหลาย นำไปสู่การจัดลำดับความสำคัญเพื่อตอบความต้องการของกลุ่มคนด้อยโอกาส และรับประกันว่าประชากรในภูมิภาคจะเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ทุกคน.

อ้างอิง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์