จีน ตกลงถ่ายทอดเทคโนโลยี สร้างรถไฟความเร็วสูงให้ไทย แม้เคยปฏิเสธเงินทุน BRI มาก่อน

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

จีน ตกลงถ่ายทอดเทคโนโลยี สร้างรถไฟความเร็วสูงให้ไทย แม้เคยปฏิเสธเงินทุน BRI มาก่อน

Date Time: 23 พ.ค. 2566 15:07 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • จีนตกลงถ่ายทอดเทคโนโลยีสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงให้ไทย ก่อสร้างโครงการที่รถไฟจีน-ไทยจากเมืองคุนหมิงทางตะวันตกเฉียงใต้ ของจีนถึงกรุงเทพฯ ครอบคลุมระยะทาง 873 กม. แม้ก่อนหน้าไทยจะเคยปฏิเสธข้อเสนอของจีนในการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการทั้งหมดก็ตาม

South China Morning Post รายงานว่า ในการประชุมร่วมกันของกลุ่มบริษัท China Railway International Group รัฐวิสาหกิจของจีน และสมาชิกทีมการจัดการด้านวิศวกรรมและการเจรจาทางเทคนิคในต่างประเทศ ได้ตกลงกันว่า

จีนจะถ่ายทอดเทคโนโลยีสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงให้กับไทย ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่ละเมิดกฎหมายของจีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถพัฒนาเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงของตนเองได้ 

โดยจะทำการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทักษะ และความรู้ใน 11 ด้าน ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงให้ประเทศไทยภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด

ปัจจุบันจีนมีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งสร้างขึ้นในเวลาเพียง 15 ปี เครือข่ายครอบคลุมมากกว่า 40,000 กม. (ประมาณ 24,800 ไมล์) หรือยาวพอที่จะโคจรรอบโลก ประสบการณ์ด้านวิศวกรรม ความรู้ และเทคโนโลยีของจีนจะเป็นประโยชน์ กับที่ต้องการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่คล้ายกันอย่างรวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำ

ซึ่งสิ่งที่จีนจะถ่ายทอดให้กับไทยนั้น จะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ในการสร้างรางรถไฟ และแนวทางปฏิบัติในการวางรางในภูมิประเทศต่างๆ ตลอดจนการออกแบบสถานีรถไฟเพื่อให้ผู้โดยสารสัญจรไปมาได้ดีขึ้น การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ หรือแหล่งน้ำอื่นๆ ด้วยความเร็วที่เร็วขึ้นและต้นทุนที่ต่ำลง การเตรียมพื้นใต้รางรถไฟให้มั่นคงและปลอดภัย รวมถึงการออกแบบและสร้างอุโมงค์ที่ปลอดภัย สำหรับโครงการที่จะก่อสร้างนั้นเป็นรถไฟจีน-ไทยจากเมืองคุนหมิงทางตะวันตกเฉียงใต้ ของจีนถึงกรุงเทพฯ ครอบคลุมระยะทาง 873 กม. รถไฟจะเดินทางด้วยความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม.

โครงการนี้ถือเป็นส่วนสำคัญในแผนริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีน เนื่องจากจะเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านจังหวัดเชียงใหม่และนครราชสีมา และจะเชื่อมต่อกับเครือข่ายการขนส่งอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น รถไฟลาว-จีน และรถไฟความเร็วสูงมาเลเซีย-สิงคโปร์ คาดว่าเส้นทางรถไฟดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการขนส่งสินค้าที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ

อย่างไรก็ตาม แม้จีนและไทยจะสามารถบรรลุข้อตกลงสร้างรถไฟความเร็วสูงร่วมกันได้ แต่ทางจีนได้เปิดเผยถึงความยากในเจรจาโครงการกับไทย เนื่องจากไทยปฏิเสธข้อเสนอของจีนในการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการทั้งหมด โดยเลือกที่จะใช้เงินทุนจากภาครัฐและการลงทุนจากภาคเอกชนแทน นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่เป็นปัญหา ได้แก่ มาตรฐานรถไฟความเร็วสูงของจีนที่ไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานสากล จึงต้องได้รับการตรวจสอบและประเมินโดยเจ้าหน้าที่ของไทย เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นไปตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยและกฎระเบียบของประเทศ

ตลอดจนปัญหากลไกการยอมรับคุณสมบัติร่วมกันระหว่างวิศวกรชาวจีนและชาวไทยในโครงการ เนื่องจากฝ่ายไทยไม่ยอมรับคุณสมบัติทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องของบุคลากรด้านเทคนิคของจีนโดยตรง ทำให้วิศวกรชาวจีนต้องผ่านการฝึกอบรมและการรับรองเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถทำงานในโครงการได้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์