De-Dollarization คืออะไร  ‘ดอลลาร์’ เสื่อมมนต์ขลังจริงหรือไม่

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

De-Dollarization คืออะไร ‘ดอลลาร์’ เสื่อมมนต์ขลังจริงหรือไม่

Date Time: 24 เม.ย. 2566 11:33 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • De-Dollarization คืออะไร? ย้อนรอย เส้นทางดอลลาร์ครองโลก ก่อนถูกจับตาว่าจะเสื่อมมนต์ขลัง โลกหันหลังให้ดอลลาร์จริงหรือไม่ หลังจีนรุกกระชับมิตรประเทศยูโรโซน ดันสกุลเงินหยวนในระบบการเงินโลก

De-Dollarization คืออะไร โลกหันหลังให้ดอลลาร์จริงหรือไม่ เมื่อสหรัฐฯ เดินเกมการเมืองโดยใช้ระบบการเงินเป็นอาวุธ Thairath Money พาย้อนรอยเส้นทางดอลลาร์ครองโลกก่อนถูกจับตาว่าจะเสื่อมมนต์ขลัง

ย้อนรอยประวัติศาสตร์ดอลลาร์ $ ครองโลก 

เป็นเวลาหลายทศวรรษที่สกุลเงินดอลลาร์มีอิทธิพลเหนือการค้าโลกและการไหลเวียนของเงินทุนในมิติต่างๆ นับตั้งแต่ปี 1944 การลงนามข้อตกลง Bretton Woods ที่ตรึงสกุลเงินดอลลาร์ในระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ เพื่อลดความผันผวนทางการค้าระหว่างกัน ดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินเดียวที่ถูกตรึงไว้กับทองคำในอัตรา เพิ่มความต้องการถือครองและสำรองดอลลาร์สหรัฐ สำหรับทำการค้าขายและสร้างความมั่นคง นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ดอลลาร์สหรัฐมีบทบาทสำคัญในระบบ

แต่กระนั้นหลังดอลลาร์สหรัฐกระจายสู่ระบบการค้าทั่วโลกอย่างก้าวกระโดดและความต้องการดอลลาร์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกินกว่าทองคำสำรองของสหรัฐฯ จะค้ำประกัน การปล่อยกู้จนขาดดุลทำให้ในปี 1970 ประธานาธิบดีริชาร์ด เอ็ม. นิกสัน ประกาศยุติการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดอลลาร์กับทองคำ สร้างความปั่นป่วนจนถูกขนานนามว่า “Nixon Shock การเงินโลก”

อย่างไรก็ตาม Bretton Woods System ได้สร้างรากฐานต่ออัตราการแลกเปลี่ยนเงิน การถือดอลลาร์แทนทองคำเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศ อีกทั้งหนี้ทั่วโลกส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในรูปเงินดอลลาร์ เพราะสหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดให้กับหน่วยงานระดับโลกอย่าง IMF และ World Bank การจ่ายเงินทั้งหมดจึงอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์เช่นกัน ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาถูกบังคับให้ค้าขายกับประเทศอื่นด้วยสกุลเงินดอลลาร์ ในช่วงปลายยุค 90 การค้าโลกเกือบ 90% เกิดขึ้นในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

ท่ามกลางปรากฏการณ์ ‘ดอลลาร์ไรเซชัน’ ในมิติต่างๆ ผ่านเครื่องมือทางเงินที่ปราดเปรื่อง ทำให้ผู้ถือสามารถสร้างผลกำไรระยะยาวจากการถือครองสินทรัพย์ที่ผูกกับค่าเงินดอลลาร์ได้อย่างสบายๆ สหรัฐอเมริกายังได้รับการยอมรับในแง่ตลาดการเงินที่มีเสถียรภาพ เสรี โปร่งใส เข้าถึงได้ง่าย และมีสภาพคล่องมากที่สุดในโลก โดยข้อมูลล่าสุด ระบุ ดอลลาร์สหรัฐแพร่หลายและคงสถานะสื่อกลางในธุรกรรมระหว่างประเทศทั้งหมดอยู่ถึง 88% เลยทีเดียว

ดอลลาร์สหรัฐขึ้นแท่นเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศอันดับหนึ่ง (Reserve Currency) ในปี 1960 เป็นต้นมาแซงหน้าสกุลปอนด์สเตอลิงในสัดส่วนมากกว่า 60% และแตะ 70% ในปี 2000 ถูกถือครองโดยธนาคารกลางทุกแห่ง กระทรวงการคลัง ตลอดจนบริษัทยักษ์ใหญ่ นอกจากนี้หลายประเทศยังใช้ดอลลาร์สหรัฐ เป็นสกุลหลักของประเทศอีกด้วย เช่น เอกวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ เปอร์โตริโก โบแนร์ มาร์แชลไอซ์แลนด์ เป็นต้น

จากที่กล่าวข้างต้น ดอลลาร์สหรัฐยังทรงอำนาจอยู่ แต่ถึงกระนั้นข้อเท็จจริงหลายประการ กลับบ่งบอกถึงอำนาจนำทางเศรษฐกิจที่กำลังเสื่อมมนต์ขลัง

เร็วๆ นี้ประเด็น De-Dollarization หรือการลดอำนาจสกุลเงินดอลลาร์ในระบบตลาดโลก กลายเป็นหัวข้อที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอีกครั้ง ความเป็นเจ้าโลกในระบบเศรษฐกิจของสกุลเงินดอลลาร์ถูกมองว่าจะถูกแทนที่ด้วยสกุลเงินอื่นๆ หลังความขัดแย้งในการเมืองโลกซึ่งสะท้อนให้การตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่ถูกตั้ง "ข้อครหาว่าใช้สกุลเงินดอลลาร์เป็นอาวุธ" ต่อกรกับรัสเซีย ตั้งแต่การปะทะกันช่วงการผนวกไครเมียปี 2014 ต่อเนื่องยังสงครามยูเครนในปี 2022

เรื่องนี้ถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤติศรัทธาหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สูงเป็นประวัติการณ์ สร้างโดมิโนเอฟเฟกต์ต่อธนาคารในสหรัฐฯ และตลาดพันธบัตรอเมริกัน ตอกย้ำวิถีการปล่อยสินเชื่อและหนี้เสียคงข้างในระบบ การดำเนินนโยบายอัดฉีดเงินเพิ่มอุ้มระบบไว้ผลักดันการเสื่อมถอยของค่าเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป คลิกอ่านต่อประเด็น ผลกระทบวิกฤติเงินเฟ้อกับการเสื่อมค่าของดอลลาร์สหรัฐ

อนึ่ง ข้อเท็จจริงที่ว่าเศรษฐกิจโลกล้วนพึ่งพากันและกัน ต้องยอมรับว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงล้วนส่งผลกระทบเงินฝืดเคืองที่กระจายไปทั่วโลก ระบบที่ยึดติดกับดอลลาร์สหรัฐมากในช่วงที่ผ่านมาเริ่มตระหนักถึงผลเสีย การลดลดบทบาทสกุลเงินดอลลาร์ในการค้าขายกลายเป็นแนวทางที่หลายประเทศเริ่มหันมอง เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระยะยาวในทศวรรษหลังจากนี้

จีนรุกกระชับมิตรประเทศในยูเรเชีย มอบหลักประกันทางเศรษฐกิจ ทางเลือกอื่นแทนที่ดอลลาร์ 

ปี 2022 นับตั้งแต่ถูกคว่ำบาตร รัสเซียรับความช่วยเหลือทางการค้าจากจีน บรรลุข้อตกลงการค้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เริ่มใช้สกุลเงินหยวนแลกเปลี่ยนกับสกุลเงินรูเบิลแทนการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐสำหรับการชำระค่าก๊าซ

ทั้งสองประเทศมีการธุรกรรมในระบบการชำระเงินข้ามแดนของจีนหรือ Cross-border Interbank Payment System (CIPS) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 50% สัดส่วนการชำระเงินข้ามประเทศในรูปสกุลเงินรูเบิลและเงินหยวนของรัสเซียเพิ่มขึ้นจากราว 13% เป็น 47% ตัวเลขการค้าระหว่างจีนกับรัสเซียเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด เพิ่ม 80 เท่าตัวแซงดอลลาร์สหรัฐภายใน 1 ปี

ล่าสุดในปีนี้หลังการเยือนกรุงมอสโก วลาดิเมียร์ ปูตินยังให้คำมั่นว่าจะใช้เงินหยวนสำหรับการชำระเงินระหว่างรัสเซียกับประเทศต่างๆ ในเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกาแทนที่ดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย 

การเข้ามามีบทบาทของสหรัฐฯ ชาติตะวันตกและพันธมิตร เพื่อคว่ำบาตรรัสเซีย เช่น การห้ามทำธุรกรรมทางการเงินทุกช่องทางหรือกับแบงก์ชาติของรัสเซีย การกีดกันรัสเซียในระบบโอนเงินโลก (SWIFT) หรือการอายัดทรัพย์สินและเงินฝากในต่างประเทศไปกว่า 20 ล้านล้านบาท ทำให้หลายประเทศทบทวนยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงการผูกขาดของเงินสกุลดอลลาร์ เริ่มต้นทำข้อตกลงทวิภาคีกับคู่ค้าอื่นและผลักดันการค้าขายโดยใช้สกุลเงินท้องถิ่นมากขึ้น

อาทิ บราซิล-อาร์เจนตินา หารือเกี่ยวกับการสร้างสกุลเงินร่วมกันสำหรับสองประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้, อินเดีย-รัสเซีย เชื่อมโยงระบบการเงินร่วมกันระหว่างธนาคารกลางแห่งอินเดียกับธนาคารกลางของรัสเซียและใช้สกุลเงินรูปีกับรูเบิลค้าขายระหว่างกัน หรือ BRICS ประเทศกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) ที่เกิดแนวความคิดสร้างสกุลเงิน BRICS Currency ขึ้นมาใหม่เพื่อใช้ระหว่างกลุ่ม

ขณะเดียวกันประเทศรอบข้างเพิ่มการสานสัมพันธ์กับ "จีน" อีกหนึ่งมหาอำนาจ ที่ในช่วงหลังได้เปิดเกมรุกกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในภูมิภาคยูเรเชียและภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างโดดเด่น นัยหนึ่งที่หวังดันสกุลเงินหยวนสู่ระบบการเงินโลก

ดังที่จะเห็นการเจรจาร่วมกันในช่วงที่ผ่านมา อาทิ การตกลงกับบราซิลใช้สกุลเงินเรอัล-หยวนในการค้า การตกลงกับฝรั่งเศสซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นครั้งแรกในสกุลเงินหยวน ซาอุดีอาระเบียและกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ (Gulf Cooperation Council) จะเปิดให้ซื้อขายน้ำมันด้วยสกุลเงินหยวน นับเป็นครั้งแรกในรอบ 48 ปีที่จากเดิมที่บังคับซื้อขายด้วยดอลลาร์สหรัฐ หรือที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งที่ มาเลเซีย-จีน ร่วมกันหาแนวทางจัดตั้งจัดกองทุนกู้ยืมระหว่างเอเชีย ASIA Fund ปล่อยกู้สกุลเงินหยวนให้สมาชิก เป็นต้น 

แน่นอนว่าดอลลาร์สหรัฐจะยังไม่ถูกทดแทนด้วยสกุลเงินอื่นในเร็ววันนี้ และตามสถิติการเปลี่ยนผ่านจากสกุลเงินหนึ่งมาสกุลหนึ่งใช้เวลาอย่างต่ำ 80-100 ปี ซึ่งปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าการผงาดของจีนในศตวรรษนี้ได้สร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญต่อหลายภูมิภาค อีกทั้งแนวคิดเรื่อง "สกุลเงินหลายขั้ว" จะถูกหยิบยกมาพูดมากขึ้นอีกหลังจากนี้เป็นที่แน่นอนท่ามกลางสภาวะระบบเศรษฐกิจที่แตกเป็นหลายขั้วในปัจจุบัน 

อ้างอิง Bloomberg, Financial Times, USCurrency, IMF

 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์