โลกกำลังจับตาว่าโครงการ BRI จีนเชื่อมโลก คือ ‘การวางกับดักหนี้’ เพื่อหวังชิงสถานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ผ่านความช่วยทางการเงินและการปล่อยสินเชื่อเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ สำหรับพันธมิตร BRI ที่กระจายอยู่ทั่วโลก เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเสริมสภาพคล่องเพื่อบรรเทาหนี้ หรือการตอบสนองต่อวิกฤติ
BRI (Belt and Road Initiative) คือ โครงการฟื้นฟูเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ประกาศครั้งแรกในปี 2556 ภายใต้การนำของรัฐบาลสี จิ้นผิง เครื่องมือขยายอิทธิพลของจีนบนเวทีโลก ผ่านการสนับสนุนเงินลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในนานาประเทศ ครอบคลุม 6 ภูมิภาค (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรปและเอเชียกลาง เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ลาตินอเมริกาและแถบแคริบเบียน ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ)
ข้อสังเกต เงินกู้จีนมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 5% สูงกว่าเงินกู้เพื่อการช่วยเหลือทั่วไปจาก IMF ที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 2% มุ่งเป้าไปที่ประเทศที่มีหนี้อยู่ในระดับสูงและมีความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติทางการเงิน มากไปกว่านั้นยังมีข้อสังเกตว่าประเทศส่วนใหญ่ที่จีนให้กู้ มีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ที่ตั้งทางยุทธศาสตร์หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากอีกด้วย
นอกจากนี้ ข้อมูลล่าสุด World Bank ร่วมกับสถาบันศึกษา Harvard Kennedy School สถาบัน Kiel Institute for the World Economy และบริษัทวิจัยด้านข้อมูลสหรัฐฯ AidData ได้เผยแพร่ข้อมูลล่าสุดว่า ปี 2565 สินเชื่อในต่างประเทศ เพิ่มขึ้นถึง 60% จากปี 2553 ที่มีอยู่เพียง 3%
และในช่วงปี 13 ปีที่ผ่านมา (2551-2564) จีนปล่อยกู้ให้บางประเทศเพิ่มเติมกว่า 2.4 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 8.22 ล้านล้านบาท โดยตั้งแต่ปี 2556 จีนลงทุนทางการเงินผ่าน BRI ไปแล้วกว่า 9.62 หมื่นล้านเหรียญ หรือราว 3.2 ล้านล้านบาท
เงินกู้เพื่อเพิ่มทุนสำรองและสร้างดุลการชำระเงินที่ปล่อยกู้โดยธนาคารของรัฐบาลจีน, วงเงินสินเชื่อ USD เพื่อชำระหนี้ภายนอก, สินเชื่อชำระล่วงหน้าสำหรับสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อผู้ประกอบการ, สินเชื่อสำหรับธนาคารกลางที่ปล่อยกู้ผ่านเครือข่าย PBOC swap lines ระหว่างธนาคารกลางจีนและธนาคารกลางต่างประเทศ ตลอดจนการลงทุนในตราสารทุนและพันธบัตรรัฐบาลของประเทศนั้นๆ
ปัจจุบันประเทศสมาชิก BRI มีจำนวน 147 ประเทศทั่วโลก กล่าวได้ว่ากว่าครึ่งโลกขึ้นชื่อว่าเป็นลูกหนี้จีนทั้งสิ้น แม้ประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในโครงการ BRI ก็ยังมีการกู้เงินและสินเชื่อจากจีนทางใดทางหนึ่ง
Thairath Money ฉายภาพให้เห็นว่า การเข้าสู่ระบบปล่อยกู้เพื่อช่วยเหลือข้ามพรมแดนทำให้จีนใกล้ชิดกับประเทศต่างๆ แบบรัฐต่อรัฐมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง แม้สกุลเงินหยวนจะยังไม่เทียบเท่าดอลลาร์สหรัฐ แต่โครงการ BRI และความช่วยเหลือทางการเงินรูปแบบต่างๆ ส่งเสริมบทบาทของเงินหยวนในฐานะสกุลเงินหลักของโลก สะท้อนให้เห็นความเคลื่อนไหวในการเข้ามาแทนที่สหรัฐฯ ในระบบการเงินการธนาคารโลกอีกด้วย อ่านเพิ่มเติมคลิก จีน แผ่อิทธิพลด้วยกับดักหนี้ 13 ปี ปล่อยกู้กว่า 8 ล้านล้านบาท ผ่าน BRI เส้นทางสายไหม