นักลงทุนญี่ปุ่น ชี้ นโยบาย 'อีอีซี' ช่วยเสริมความมั่นใจ ก่อนลงทุนในไทย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

นักลงทุนญี่ปุ่น ชี้ นโยบาย 'อีอีซี' ช่วยเสริมความมั่นใจ ก่อนลงทุนในไทย

Date Time: 2 มิ.ย. 2560 16:10 น.

Video

บุกโรงงาน PANDORA ช่างไทยผลิตจิวเวลรี่ แบรนด์โลกแสนล้าน | On The Rise

Summary

  • เจโทรกรุงเทพฯ เผยบริษัทใหญ่ญี่ปุ่นในไทยขยายการลงทุนไปอีอีซีแล้ว 24 ราย พร้อมเรียกร้องรัฐบาลไทยให้คำสัญญาหนักแน่นจะเป็นนโยบายระยะยาว หวังสร้างความเชื่อมั่นก่อนตัดสินใจลงทุน หลังหลายบริษัทยังลังเล

Latest


เจโทรกรุงเทพฯ เผยบริษัทใหญ่ญี่ปุ่นในไทยขยายการลงทุนไปอีอีซีแล้ว 24 ราย มีทั้งผลิตรถยนต์ เคมีภัณฑ์ เหล็ก กระดาษ อาหาร ธนาคาร ประกันภัย ค้าปลีก พร้อมเรียกร้องรัฐบาลไทยให้คำสัญญาหนักแน่นจะเป็นนโยบายระยะยาว หวังสร้างความเชื่อมั่นก่อนตัดสินใจลงทุน หลังหลายบริษัทยังลังเล

นายฮิโรคิ มิทสึมะตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น สาขากรุงเทพฯ (เจโทร กรุงเทพฯ) เปิดเผยถึงผลการสำรวจความคิดเห็นของบริษัทญี่ปุ่นที่อยู่ในไทยต่อระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ระหว่างวันที่ 27 เม.ย.-3 พ.ค. 60 จากบริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ในคณะกรรมการบริหารหอการค้าญี่ปุ่น 48 บริษัท แต่ส่งแบบสอบถามกลับมา 28 บริษัทว่า ในจำนวน 28 บริษัท พบว่า 24 บริษัท ได้ขยายธุรกิจเข้าไปลงทุนในอีอีซีแล้ว แบ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิต 16 บริษัท เช่น รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ กระดาษ อาหาร เหล็ก และบริษัทอื่นๆ ที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมการผลิตอีก 8 บริษัท เช่น ธุรกิจค้าปลีก ธนาคาร และการประกันภัย

นอกจากนี้ มี 15 บริษัท อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดตั้งสำนักงานภายในเขตอีอีซี เพราะมองว่าเป็นตำแหน่งที่สำคัญเชิงกลยุทธ์ในภูมิภาคที่กว้างขึ้น อย่างไรก็ตาม ในจำนวน 28 บริษัท มี 10 บริษัทที่ในอนาคตมีแผนจะขยายการลงทุนในอีอีซีเพิ่มเติม และคาดว่า จะมีบริษัทญี่ปุ่นอื่นๆ เข้ามาลงทุนในอีอีซีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อีก 18 บริษัท ระบุว่าไม่มีแผนขยายการลงทุนในอนาคต

เมื่อถามถึงมาตรการสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในอีอีซี ที่รัฐบาลไทยนำมาใช้มีประสิทธิภาพหรือไม่ มี 22 บริษัทตอบว่ามีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี และการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี หลังจากลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล และมีอีกจำนวนมากตอบว่า มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการลงทุนสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่รัฐบาลไทยอยู่ระหว่างการวางแผนดำเนินการ เช่น การจัดเตรียมท่าเรือแหลมฉบัง และสนามบินอู่ตะเภา รวมถึงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนญี่ปุ่นมีคำเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย 5 ด้านคือ

1. ต้องการเห็นคำมั่นสัญญาที่หนักแน่นของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะต้องรับประกันนโยบายอีอีซีในระยะยาว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุน โดยขณะนี้ แต่ละบริษัทรอดูท่าทีและความชัดเจนในนโยบายนี้ก่อนว่าจะสำเร็จหรือไม่ พร้อมกันนั้น ยังต้องการให้รัฐบาลญี่ปุ่นมีส่วนร่วมลงทุนสาธารณูปโภคด้านคมนาคม หรือรัฐบาลไทยลงทุนเองทั้งหมด เพราะเกรงว่า การให้ภาคเอกชนลงทุนร่วมกับภาครัฐ (พีพีพี) อาจไม่สำเร็จ

2. การพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อเป็นการจูงใจอุตสาหกรรมขั้นสูงและล้ำสมัยให้เข้ามาลงทุน

3. การจัดเตรียมสภาพแวดล้อมเพื่อนำเทคโนโลยีล้ำสมัยเข้ามาใช้ เช่น ลดหย่อนภาษี เป็นพิเศษให้แก่นักวิจัย

4. การปรับปรุงกฎหมายและประเด็นปัญหาของหน่วยงานภาครัฐ

5. การปรับปรุงด้านโลจิสติกส์และการจัดเตรียมสาธารณูปโภคอื่นๆ เพราะการจราจรที่ติดขัดอย่างหนัก ถือเป็นการเพิ่มต้นทุนด้านโลจิสติกส์อย่างมาก

"ข้อมูลเหล่านี้ น่าจะสะท้อนความคิดเห็นของนักลงทุนญี่ปุ่นในไทยที่มีต่ออีอีซีได้ แต่เชื่อว่า ในอนาคตน่าจะมีบริษัทญี่ปุ่นลงทุนในอีอีซีเพิ่มขึ้น หากข้อกังวลต่างๆ ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลไทย ส่วนการที่รัฐบาลไทย เลื่อนการออก พ.ร.บ.อีอีซี ออกไปนั้น ไม่ขอออกความเห็น แต่สิ่งสำคัญคือ บริษัทญี่ปุ่น ต้องการเห็นระบบโดยรวมของอีอีซีให้ชัดเจนมากที่สุดก่อนตัดสินใจลงทุนหรือไม่"

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 7 มิ.ย. 60 นี้ เจโทร ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จัดสัมมนาเรื่องการลงทุนในไทย ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจนักลงทุนญี่ปุ่นเกี่ยวกับอีอีซี รวมถึงเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนด้วย ล่าสุด มีบริษัทญี่ปุ่นตอบรับเข้าร่วมงานแล้วประมาณ 1,200 ราย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ