แรงงานเกษตรวูบ 1.3 ล้าน สศช.ชี้ปัจจัยรุมเร้าภัยแล้ง-แก่-รายได้ต่ำ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

แรงงานเกษตรวูบ 1.3 ล้าน สศช.ชี้ปัจจัยรุมเร้าภัยแล้ง-แก่-รายได้ต่ำ

Date Time: 27 พ.ค. 2560 05:40 น.

Summary

  • สศช.เผยแรงงานเกษตรหาย 1.3 ล้านคนช่วง 4 ปี หลังเจอแล้งหนัก แถมเกษตรกรสูงอายุขึ้นทุกวันต้องเลิกอาชีพ ส่วนแรงงานใหม่ที่จะมาทดแทนก็ลดจำนวนลง เหตุมองเป็นอาชีพเกษตรต้องทำงานหนัก ผลตอบแทนต่ำ...

Latest

“โกโก้ร้านไอ้ต้น” แฟรนไชส์สัญชาติไทย ปีเดียว ขยายสาขา 160 แห่งในจีน ความแปลก ที่กลายเป็นเอกลักษณ์

สศช.เผยแรงงานเกษตรหาย 1.3 ล้านคนช่วง 4 ปี หลังเจอแล้งหนัก แถมเกษตรกรสูงอายุขึ้นทุกวันต้องเลิกอาชีพ ส่วนแรงงานใหม่ที่จะมาทดแทนก็ลดจำนวนลง เหตุมองเป็นอาชีพเกษตรต้องทำงานหนัก ผลตอบแทนต่ำ ขณะที่แรงงานไทยยังขาดทักษะภาษาอังกฤษ คุณภาพแรงงานใหม่ไม่ตรงความต้องการของผู้ประกอบการ

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสแรกปี 2560 ว่า ในไตรมาสแรกอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.2% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 0.97% และไตรมาสก่อนหน้านี้คือไตรมาสที่ 4 ปี 2560 อยู่ที่ 1% ส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานที่ลดลงในสาขาเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต ก่อสร้าง ซึ่งการจ้างงานในภาคเกษตรที่ลดลง เนื่องจากการเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่นอกภาคเกษตรต่อเนื่องมาจากปี 2557-2559 จากปัญหาภัยแล้งรุนแรง และอีกส่วนคือเกษตรกรเข้าสู่วัยสูงอายุจึงเลิกทำเกษตร ขณะที่แรงงานใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนก็ลดลงเช่นกัน เนื่องจากภาคเกษตรมีสภาพงานที่หนักและผลตอบแทนไม่แน่นอนจึงไม่จูงใจ

“การจ้างงานภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปัญหาโครงสร้างแรงงาน โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แรงงานภาคเกษตรลดลงประมาณ 1.3 ล้านคน จากจำนวน 13.06 ล้านคนในปี 2556 เหลือ 11.76 ล้านคนในปี 2559 กลุ่มใหญ่ที่ลดลงอยู่ในช่วงอายุ 30-49 ปี ประมาณ 990,000 คน จากปัญหาภัยแล้งทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายไปทำงานนอกภาคเกษตร ส่วนแรงงานที่จะเข้ามาทดแทนก็ลดลงดูได้จากแรงงานที่มีอายุช่วง 15-29 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าสู่แรงงานไม่นานมีจำนวนลดลง 300,000 คน สอดคล้องกับพื้นที่ถือครองเพื่อการเกษตรที่ลดลงจาก 151 ล้านไร่ในปี 2546 เหลือ 149.2 ล้านไร่ในปี 2556 หรือลดลง 1.8 ล้านไร่ เฉลี่ยลดลงปีละ 0.16% ดังนั้นการเพิ่มผลิตภาพการผลิตจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ”

ขณะเดียวกัน สศช.ได้ศึกษาเรื่องการเตรียมความพร้อมทักษะแรงงานไทยในอนาคต เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศตามโมเดลประเทศไทย 4.0 ซึ่งจะปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยร่วมกับบริษัทศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ รวบรวมข้อมูลจากสถานประกอบการกิจการกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพที่จะเป็นอุตสาหกรรมในอนาคต 5 อุตสาหกรรม หรือเฟิร์ส เอส-เคิร์ฟ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, ด้านเกษตรในกลุ่มการผลิตยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง, แปรรูปอาหาร และที่พัก สปา และเรือสำราญ โดยสำรวจกลุ่มแรงงานระดับกลาง วุฒิการศึกษาระดับ ปวช.ขึ้นไป จำนวน 1,353 ตัวอย่าง และระดับผู้บริหารและผู้ประกอบการ จำนวน 239 ราย

ทั้งนี้ ผลการสำรวจพบว่า แรงงานและผู้ประกอบการส่วนใหญ่รับรู้แนวคิดการพัฒนาประเทศไทย 4.0 แต่ยังขาดความเข้าใจที่ชัดเจน โดยแรงงาน 63% รับรู้ข้อมูล ข่าวสาร เกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเข้าสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ส่วนผู้ประกอบการรับรู้มากกว่าอยู่ที่ 78.7% สำหรับความเห็นของผู้ประกอบการที่มองความสามารถของแรงงานพบว่า ความสามารถของแรงงานอยู่ในระดับคะแนนเฉลี่ยระดับมาก แต่มี 2 ทักษะที่ผู้ประกอบการเห็นว่าอยู่ในระดับปานกลาง คือ การใช้ภาษาอังกฤษ และการค้นคว้าหาข้อมูล ซึ่งผู้ประกอบการเห็นว่าควรเพิ่มเติมการเรียนการสอนด้านภาษา การฝึกปฏิบัติจริง และการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ

เช่นเดียวกับการให้แรงงานประเมินความสามารถของตนเองซึ่งมีความเห็นที่สอดคล้องกับผู้ประกอบการคือ กว่า 50% เห็นว่าด้านภาษาอังกฤษยังต้องปรับปรุง เนื่องจากยังไม่อยู่ในระดับที่สามารถสื่อสารได้ ส่วนทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ส่วนใหญ่เห็นว่ามีทักษะระดับพอใช้

สำหรับการสอบถามถึงข้อจำกัดและการปรับตัวของผู้ประกอบการและแรงงานพบว่า สถานประกอบการมีข้อจำกัดในการพัฒนาที่สำคัญคือ การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ คุณภาพแรงงานใหม่ยังไม่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องจัดการอบรมพัฒนาแรงงานใหม่ก่อนเข้าทำงาน ซึ่งต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก และแนวทางการพัฒนาและฝึกอบรมที่ควรดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ การจัดอบรมทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ การทำงานเป็นทีมและทักษะการสื่อสารอย่างเหมาะสม ส่วนการปรับตัวของผู้ประกอบการกับปัญหาแรงงานข้างต้นคือ การนำเอาเครื่องจักรกลมาใช้แทนแรงงานคน ส่วนนี้อาจเกิดผลกระทบต่อการจ้างแรงงานในระยะสั้น การพัฒนาความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อให้ความรู้ ฝึกฝนทักษะที่จำเป็น พร้อมทั้งคัดกรองกลุ่มที่มีความสามารถโดดเด่นเข้าร่วมทำงานในองค์กร.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ