'พาณิชย์' ร่อนหนังสือแจง สหรัฐฯขาดดุลการค้า เพราะส่งออกมาไทยน้อย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

'พาณิชย์' ร่อนหนังสือแจง สหรัฐฯขาดดุลการค้า เพราะส่งออกมาไทยน้อย

Date Time: 11 พ.ค. 2560 17:46 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • พาณิชย์ เผย ไทยส่งคำชี้แจงเหตุสหรัฐฯขาดดุลการค้าให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ แล้ว ยันเหตุขาดดุล เพราะสหรัฐฯส่งออกมาไทยน้อย จากไม่มีเอฟทีเอ ทำไทยหัน นำเข้าประเทศมีเอฟทีเอมากกว่า

Latest


พาณิชย์ เผย ไทยส่งคำชี้แจงเหตุสหรัฐฯขาดดุลการค้าให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ แล้ว ยันเหตุขาดดุล เพราะสหรัฐฯส่งออกมาไทยน้อย จากไม่มีเอฟทีเอ ทำไทยหัน นำเข้าประเทศมีเอฟทีเอมากกว่า และศก.ไทยชะลอ นำเข้าน้อย ยันนโยบายการค้าไม่เอาเปรียบ-ไม่เลือกปฏิบัติ จนสหรัฐฯขาดดุลแน่นอน

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ในฐานะโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบหมายจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้เป็นหน่วยงานหลักในการประสานและรวบรวมข้อมูลด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อจัดทำคำชี้แจงตามที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯได้กำหนดให้ 13 ชาติที่สหรัฐฯขาดดุลการค้าจัดส่งคำชี้แจงในวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา

“คำชี้แจงของไทย กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบเมื่อวันที่ 9 พ.ค. โดยหลังการประชุมครม. ผู้แทนของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศได้หารือและปรับถ้อยคำบางส่วนให้สอดคล้องกับการหารือในครม. และได้ส่งให้สหรัฐฯแล้วภายในวันที่ 10 พ.ค. และกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ จะจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันที่ 18 พ.ค.นี้”

สำหรับ คำชี้แจงที่กระทรวงพาณิชย์ของไทยได้จัดส่งไปให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ครอบคลุมหลายมิติทั้งทางด้านสังคม การเมือง และความมั่นคง โดยเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างกัน ที่ยาวนานถึง 184 ปี มีสนธิสัญญาไมตรีไทย-สหรัฐฯ เป็นหลักสำคัญของความสัมพันธ์ รวมทั้งมีเวทีหารือภายใต้ความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-สหรัฐ (ทิฟา) และข้อผูกพันขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) เป็นพื้นฐานด้านภาษีและแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน

ส่วน ประเด็นขาดดุลการค้านั้น ได้ชี้แจงว่า มูลค่าการขาดดุลไม่ได้สูงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมีสัดส่วนเพียง 1.5% ของมูลค่าการขาดดุลการค้ารวมของสหรัฐฯ โดยการส่งออกของสหรัฐฯมาไทยที่ผ่านมาขยายตัวไม่สูงนัก เนื่องจากสหรัฐฯไม่มีข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับไทย ทำให้ไทยนำเข้าสินค้าจากประเทศที่มีเอฟทีเอมากกว่า เพราะเสียภาษีอัตราต่ำ อีกทั้งเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ทำให้นำเข้าสินค้าลดลง

ขณะเดียวกัน สินค้าไทยที่สหรัฐฯนำเข้ามีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาทิ สินค้าขั้นกลางที่นำไปเพิ่มมูลค่าด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงในสหรัฐฯ และสินค้าที่ใช้วัตถุดิบเกษตรจากไทย รวมทั้งไทยยังเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯมากขึ้น ทำให้ให้มีการจ้างงานคนในสหรัฐฯนับหมื่นๆ คน

ขณะที่ สหรัฐฯมีการลงทุน และการประกอบธุรกิจบริการในไทยจำนวนมากและหลากหลาย โดยไทยเป็นฐานการส่งออกของบริษัทสหรัฐฯหลายแห่งไปในภูมิภาคและเชื่อมโยงแวลู เชน ของทุนสหรัฐฯในเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย ดังนั้น การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ จึงเป็นไปตามความแตกต่างและเกื้อกูลกันเชิงโครงสร้างระหว่างเศรษฐกิจไทยและสหรัฐฯ และไม่ได้เกิดจากการเลือกปฏิบัติหรือใช้นโยบายที่ไม่เป็นธรรม

นอกจากนี้ นโยบายการค้าของไทย ยึดมั่นในหลักเศรษฐกิจระบบตลาด สอดคล้องกับหลักการดับบลิวทีโอ ทั้งด้านมาตรการภาษีและไม่ใช่ภาษี และสองประเทศมีการหารือประเด็นทางการค้าการลงทุนระหว่างกันเป็นประจำภายใต้เวทีทิฟา ซึ่งหัวข้อหนึ่งที่สหรัฐฯให้ความสำคัญตลอด คือ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยเร่งรัดการปฏิบัติตามกฎหมายด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ เช่น ลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้า การพยายามแก้ปัญหางานคั่งค้างของสิทธิบัตร เป็นต้น และยังมีความร่วมมือกับสำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐอเมริกา (ยูเอสทีอาร์) เพื่อจัดทำแผนดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญา ที่เน้นด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการบังคับใช้กฎหมายอีกด้วย

พร้อมกันนั้น ไทยยังได้เสนอความคืบหน้าการดำเนินการในเรื่องการคุ้มครองแรงงาน และสิทธิแรงงานด้วย รวมถึงอีกประเด็นที่สำคัญ คือ ไทยเน้นว่าไม่มีการใช้นโยบายที่แทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อสร้างความสามารถในการส่งออกโดยไม่เป็นธรรม โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ดูแลค่าเงินที่ยึดหลักการสร้างเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลัก

สำหรับ การปฏิรูปภายใน ได้ชี้แจงว่า ปัจจุบันไทยกำลังปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับ เช่น การแข่งขัน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เป็นต้น ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ

ส่วน นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยขยายความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนกับสหรัฐฯด้วย ทั้งการส่งออกสินค้าจากสหรัฐฯมาไทยเพิ่ม และด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมที่สหรัฐฯ มีเทคโนโลยีสูง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์