อึ้ง!! คนรายได้ต่ำกว่าหมื่นห้า ก่อหนี้ครัวเรือนเพิ่มมากถึง 1.31 แสนบาท พุ่ง 10% สูงสุดรอบ 8 ปี เพราะเศรษฐกิจปีที่แล้วไม่ดี ต้องกู้ยืมจนหนี้พอกพูน ส่วนใหญ่ซื้อบ้านซื้อรถ พบ 78.6% ผิดนัดชำระ แนะรัฐ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 410 บาท...
เมื่อวันที่ 27 เม.ย. นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้ทำการสำรวจสถานภาพแรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท พบว่า แรงงานไทยกว่า 97% ยังมีภาระหนี้ และก่อหนี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยครัวเรือนละ 131,479 บาท เพิ่มขึ้น 10.43% จากปีก่อนหน้าที่มีการก่อหนี้ 119,061 บาท หรือเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 8 ปี
"ปัญหาหนี้ที่เพิ่มขึ้น มาจากหนี้สะสมตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศไม่ดี จึงต้องกู้ยืมเงินมาใช้จ่าย และอีกส่วนหนึ่ง มีการใช้จ่ายมากกว่าหรือเท่ากับรายได้ เพราะมีรายได้เท่าเดิม แต่ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ทั้งจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น มีของที่ต้องการซื้อมากขึ้น ดอกเบี้ยสูงขึ้น ทำให้มีหนี้สินเพิ่ม"
อย่างไรก็ตาม ในจำนวนหนี้ที่สูงขึ้นนี้ ไม่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นการก่อหนี้เพื่อซื้อทรัพย์สินคงทน อาทิ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมที่เป็นการกู้เพื่อใช้จ่ายทั่วไปเป็นหลัก ซึ่งผลการสำรวจพบว่า หนี้ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ และมีหนี้นอกระบบลดลง จากมาตรการของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการดึงหนี้นอกระบบกลับเข้ามาอยู่ในระบบ โดยเป็นหนี้ที่อยู่ในระบบ 46.4% จากปีก่อน 39.38% เป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปี ขณะที่หนี้นอกระบบมีสัดส่วน 53.6% ลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีสัดส่วน 60.62% ถือว่าลดลงสูงสุดในรอบ 4 ปีเช่นกัน
สำหรับปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ พบว่า ยังคงมีสูง โดยแรงงานส่วนใหญ่ 78.6% เคยผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากรายได้ไม่เพิ่มขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายและราคาสินค้าสูงขึ้น จนหมุนเงินไม่ทัน จึงต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือด้วยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 410 บาท ภายใน 3 ปี พร้อมทั้งควบคุมราสินค้า และช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพให้สอดคล้องกับรายได้ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ช่วยเหลือผู้ว่างงาน ดูแลประกันสังคม และค่ารักษาพยาบาล ลดดอกเบี้ยเงินกู้ และให้เงินช่วยเหลือด้านสวัสดิการ เป็นต้น.