ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.พ. พุ่งสูงรอบ 14 เดือน จากส่งออก-ท่องเที่ยว

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.พ. พุ่งสูงรอบ 14 เดือน จากส่งออก-ท่องเที่ยว

Date Time: 10 มี.ค. 2560 14:11 น.

Video

แก้เกมหุ้นไทยตกต่ำ ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดแผนฟื้นความเชื่อมั่น | Money Issue

Summary

  • ม.หอการค้าฯ เผย ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.พ. ขยับมาที่ 75.8 พุ่งต่อเนื่องเดือนที่ 3 สูงสุดรอบ 14 เดือน จากส่งออก-ท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น แต่คนยังระมัดระวังใช้จ่าย หวังเม็ดเงินลงทุน หนุนศก.ไทยครึ่งปีหลังโต 4%...

Latest


ม.หอการค้าฯ เผย ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.พ. ขยับมาที่ 75.8 พุ่งต่อเนื่องเดือนที่ 3 สูงสุดรอบ 14 เดือน จากส่งออก-ท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น แต่คนยังระมัดระวังใช้จ่าย หวังเม็ดเงินลงทุน หนุนศก.ไทยครึ่งปีหลังโต 4%...

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในเดือน ก.พ. 60 ว่า อยู่ที่ 75.8 จาก 74.5 ในเดือน ม.ค.60 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 64.3 จาก 63.1 ในเดือน ม.ค.60 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 70.3 จาก 69.1 และ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 92.8 จาก 91.2 ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนก.พ. 60 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และสูงสุดในรอบ 14 เดือน จากผลการส่งออกและท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น

สำหรับปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อดัชนีฯ มาจากเรื่องการส่งออกในเดือนม.ค.60 ที่เพิ่มขึ้น 8.83%, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยอัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 59 โตได้ 3.2% ตามคาด และคง GDP ปี 60 ที่ 3-4%, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5%, พืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น, เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อย

ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, SET Index เดือนก.พ.ปรับตัวลดลง 17.75 จุด,ผู้บริโภคยังกังวลปัญหาเรื่องค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูง, ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และนโยบายเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการบริโภคภาคประชาชนจะฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับในช่วงครึ่งปีแรก แต่ผู้บริโภคยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย เพราะมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบันและในอนาคต อีกทั้งราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าว ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศยังไม่ฟื้นตัวมากนัก คาดว่าการฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อยๆ ปรับตัวขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง ถ้าสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง และการส่งออกฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ ตลอดจนราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญรัฐบาลใช้งบประมาณกลางปีในการกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรมในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้า ยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 60 ไว้ในระดับเดิมที่ 3.5-4.0% ซึ่งหากประเมินเป็นรายไตรมาสจะมีการเติบโต ดังนี้ ไตรมาส 1/60 คาดว่า GDP จะโตได้ 3.2%, ไตรมาส 2/60 โต 3.4%, ไตรมาส 3/60 โต 3.6-3.8% และไตรมาส 4/60 โต 4.0-4.2% พร้อมคาดการส่งออกทั้งปีโต 2-3% และเงินเฟ้อทั้งปี 1.5-2%

พร้อมระบุ เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีแรกยังไม่โดดเด่นมากนัก คาดว่าครึ่งปีแรกจะโตได้ 3.3% โดยไตรมาส 2 เป็นช่วงที่รัฐบาลจะเริ่มลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ เม็ดเงินงบประมาณที่อัดฉีดผ่าน 18 กลุ่มจังหวัดจะเริ่มลงไปถึง การส่งออก การท่องเที่ยวจะเริ่มดีขึ้น รวมทั้งการลงทุนของภาคเอกชนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจากการอัดฉีดเม็ดเงินดังกล่าว จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังมีโอกาสเติบโตได้ถึง 4% และทำให้ทั้งปีเศรษฐกิจไทยจะโตได้ราว 3.6%.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ