วันนี้ (6 ก.พ. 2568) ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 2.6% ชะลอตัวจากปีก่อนหน้าที่คาดไว้ที่ 2.7% เล็กน้อย โดยมีแรงส่งสำคัญจากภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ อย่างไรก็ตาม แรงส่งนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการฟื้นตัวกลับมาเกือบปกติของภาคท่องเที่ยว ในขณะที่ปัญหาความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและภาคส่งออกยังเป็นแรงกดดันที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ การหดตัวของสินเชื่อภาคธนาคารจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาวะเศรษฐกิจกำลังส่งผลทางลบต่อการบริโภคสินค้าคงทนและภาคอสังหาริมทรัพย์
ด้านปัจจัยภายนอก เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะโดนกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ ที่อาจใช้นโยบายการค้าเป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรอง โดยไทยติดอันดับที่ 11 ของประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากที่สุด และอาเซียนเองก็เกินดุลการค้าเป็นอันดับ 2 รองจากจีนเท่านั้น ทำให้ไทยและอาเซียนอาจตกเป็นเป้าของมาตรการทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ และส่งผลต่อภาคการค้าไทยได้ ดังนั้นไทยจึงต้องเตรียมพร้อมในการรับมือและเจรจาต่อรองให้เกิดผลดีที่สุด
สำหรับประเด็นความเสี่ยงที่ต้องจับตามองต่อไปในปี 2568 คือ สินเชื่อทั้งระบบที่หดตัวมากสุดในรอบ 20 ปี ข้อมูลล่าสุดในปี 2566 พบว่า สินเชื่อในระบบธนาคารติดลบ 2.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยอย่างสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน โดยสินเชื่อรายย่อยหดตัวต่อเนื่องมากตั้งแต่ เม.ย. 2567 ล่าสุด พ.ย. 2567 หดตัว 2.6% ด้านสินเชื่อธุรกิจและเอสเอ็มอียังขยายตัวได้เล็กน้อย ประมาณ 1.6% ในเดือน พ.ย. 2567
ทั้งนี้การหดตัวของสินเชื่อภาคธนาคารเริ่มส่งผลกระทบไปยังภาคเศรษฐกิจจริง ผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ยอดขายใหม่ที่ชะลอลงถึงติดลบ รถยนต์มือสองราคาตกอย่างต่อเนื่อง และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่สต็อกค้างขายจำนวนมาก กระทบต่อเนื่องไปยังภาคการก่อสร้างที่ต้องชะลอการสร้างที่พักอาศัยออกไป ท่ามกลางต้นทุนวัสดุที่ปรับสูงขึ้น
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการทำงบประมาณขาดดุล เพื่อนำเงินมาอัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจ จะเห็นได้จากมาตรการแจกเงินในเฟสแรกที่ต้นทุนทางการคลังเกิดขึ้นแล้ว แต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจำกัด โดยยังไม่สามารถกระตุ้นการบริโภคและเพิ่มการเติบโตของ GDP ได้ตามเป้าหมาย
การออกมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา แม้จะมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เพิ่มการเติบโต GDP ลดความรุนแรงของผลกระทบที่ต่อภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลมักประเมินการก่อหนี้ของตนเองต่ำเกินไปเสมอ โดยในการประมาณการเศรษฐกิจ มักจะประมาณการ GDP สูงกว่าความเป็นจริง ในขณะที่การใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจกลับไม่ได้ส่งผลดีอย่างชัดเจน ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้หนี้สาธารณะพุ่งชนเพดานที่ 70% ในอีก 2 ปีข้างหน้า กระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนที่มีต่อวินัยการคลังของประเทศ
ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณส่วนใหญ่ไปกับสวัสดิการของประชาชนและราชการ ประกอบกับรายได้ภาษีของรัฐบาลที่มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงมีพื้นที่ทางการคลังลดลง ทำให้รัฐบาลมีงบประมาณที่ไปใช้จ่ายในด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบราชการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐ ขยายฐานภาษี และปฏิรูประบบภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ ดูแลเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ด้านนโยบายการเงินมองว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ ทำให้มีโอกาสเห็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะลดดอกเบี้ยในปีนี้
“ปัญหาเศรษฐกิจไทยไม่สามารถแก้ด้วยการกระตุ้นอุปสงค์เพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานด้วย ดังนั้นนโยบายการเงิน การเงิน และการยกระดับความสามารถการแข่งขันจะต้องไปด้วยกัน ไม่งั้นจะกลายเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น”
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney