สงครามการค้าครั้งใหม่เปิดฉากแล้ว ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก แคนาดา ในอัตรา 25% และขึ้นภาษีอีก 10% สำหรับสินค้าจีนทุกประเภท ทำให้ประเทศคู่ค้ารายใหญ่ อย่างเม็กซิโก แคนาดา ต้องออกมาประกาศมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ ทันที เพื่อแสดงจุดยืนความไม่พอใจ แต่ช่วงนาทีสุดท้ายก่อนที่มาตรการภาษีสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้ จัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแคนาดา และคลอเดีย ไชน์บาม ประธานาธิบดีเม็กซิโก (Claudia Sheinbaum) ได้เข้าเจรจากับทรัมป์ และยื่นข้อเสนอแก้ปัญหาตามแนวชายแดนที่มีพื้นที่ติดกับสหรัฐฯ ทำให้ทรัมป์สั่งระงับขึ้นภาษีศุลกากรชั่วคราวกับทั้ง 2 ประเทศ เป็นเวลา 30 วัน เช่นเดียวกับเม็กซิโกและแคนาดาที่ระงับการขึ้นภาษีกับสหรัฐฯ ชั่วคราวด้วยเช่นกัน ในขณะที่จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีกลับ โดยไม่รอการเจรจา
Thairath Money สรุปวิธีแก้เกมสงครามการค้าของเม็กซิโก แคนาดา จีน หลังสหรัฐฯ สั่งขึ้นภาษีศุลกากร เริ่มมีผลตั้งแต่ 4 ก.พ.
โดย Bloomberg วิเคราะห์ว่า ผลกระทบจากการที่จีนขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ 15% สำหรับสินค้า 80 รายการ คิดเป็นมูลค่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ (4.69 แสนล้านบาท) น้อยกว่าที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 5.25 แสนล้านดอลลาร์ (17.6 ล้านล้านบาท)
การที่จีนเดินหน้าขึ้นภาษีโต้กลับสหรัฐฯ ทันที โดยไม่รอการเจรจาเหมือนประเทศเม็กซิโก แคนาดา สะท้อนว่าจีนมีการเตรียมรับมือมาตรการกดดันทางภาษีของทรัมป์ไว้ล่วงหน้า โดยเลือกที่จะใช้วิธีตอบโต้ทางภาษีอย่างระมัดระวัง และใช้วิธีกดดันด้านอื่นแทน โดยเฉพาะการใช้กฎหมายกดดันการดำเนินงานบริษัทสหรัฐฯ ในจีน เนื่องจากได้บทเรียนจากสงครามการค้ารอบแรกในช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกระหว่างปี 2560-2564 ซึ่งพิสูจน์ว่าการโต้ตอบด้วยมาตรการภาษีไม่เป็นผลดีต่อทั้งสองประเทศ
ทั้งนี้การเปลี่ยนแนวทางตอบโต้ของจีนสะท้อนถึงความสำเร็จของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในการกระจายแหล่งนำเข้าสินค้า ลดการพึ่งพาสินค้าจากสหรัฐฯ นับตั้งแต่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งสมัยแรก นอกจากนี้การตอบโต้ด้วยมาตรการทางภาษีที่จำกัด สะท้อนว่าจีนหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งอยู่ในภาวะเปราะบางจากปัจจัยต่างๆ เช่น ฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ แรงกดดันจากภาวะเงินฝืด
แลร์รี หู หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจจีนที่ Macquarie Group Ltd. กล่าวว่า
"สงครามภาษีศุลกากรเต็มรูปแบบไม่เป็นผลดีต่อจีน ในทางกลับกัน จีนน่าจะตอบสนองต่อการขึ้นภาษีสหรัฐฯ หลักๆ ผ่านการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ"
ด้าน InnovestX ประเมินว่า การขึ้นภาษี 15% ของจีนจะมีผลกระทบที่จำกัดต่อสหรัฐฯ เนื่องจากจีนเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า มองเป็นเครื่องมือของจีนที่จะใช้ในการเจรจาต่อรองมากกว่า ซึ่งแม้ปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณชัดเจนของการเจรจารอบใหม่ แต่แนวโน้มที่ผ่านมาไปในทิศทางที่ผ่อนคลาย จึงมีโอกาสที่การเจรจาจะจบลงด้วยข้อตกลงแบบที่เคยเกิดกับเม็กซิโกและแคนาดา
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย อาจขยายตัวชะลอลงในปี 2568 เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะโดนมาตรการกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการผลิต แม้จะไม่ใช่ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากเป็นอันดับต้นๆ โดยไทยติดอันดับที่ 11 ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ แต่เมื่อดูในภาพรวม ไทยอยู่ในกลุ่มอาเซียนที่เกินดุลกับสหรัฐฯ มากเป็นอันดับสองรองจากจีน อีกทั้งยังขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้น อาจทำให้สหรัฐฯ มองว่าไทยเป็นทางผ่านของสินค้าจีนเพื่อส่งกลับไปขายในสหรัฐฯ(Rerouting)
ที่มา:
ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney