“ส่งท้ายปีงูใหญ่ ต้อนรับปีใหม่ “ปีมะเส็ง” งูเล็ก “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ขอใช้โอกาสนี้มองไปข้างหน้า ถึงทิศทางเศรษฐกิจที่คนไทยจะต้องเผชิญตลอดปีใหม่ 2568 ผ่านความคิดเห็นของ “คนรุ่นใหม่” ที่น่าสนใจ เพื่อให้พวกเราได้รับความรู้ และมุมมองใหม่ๆ ที่จะช่วยต่อยอดมองทะลุความเสี่ยง และหาหนทางใหม่ๆ ที่จะรับมือกับความไม่แน่นอน ความผันผวน ปัญหาที่ถาโถมเข้ามาทั้งเก่าและใหม่ ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน” ดังนี้...
“มีคนพูดว่าการกลับมาของ ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นเรื่องแน่นอน แต่นโยบายของทรัมป์เป็นเรื่องไม่แน่นอน” นโยบายของทรัมป์ จึงเป็นความไม่แน่นอนอันดับหนึ่งของปี 2568” โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งจะต้องจับตาใกล้ชิดว่าจะเป็นอย่างไร แต่ในเบื้องต้น นโยบายของทรัมป์จะก่อให้เกิด Trade War และ Tech War คือ เกิดสงครามทางการค้า และความพยายามปิดกั้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างโลกกับจีนมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยจะถูกกระทบจากสงครามเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ผมมองว่า เศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และในปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น แต่จะดีขึ้นบนความไม่แน่นอนที่สูงมากขึ้น ซึ่งความไม่แน่นอนนี้ต่างจากความเสี่ยง เพราะความเสี่ยงเป็นสิ่งที่เราคาดการณ์ได้ บริหารจัดการได้ แต่ความไม่แน่นอน แม้คาดได้ว่าเกิดขึ้น แต่คาดการณ์
ผลกระทบไม่ได้ ทำให้บริหารจัดการได้ยาก การติดตามสถานการณ์โลกอย่างใกล้ชิด เตรียมแผนรองรับไว้ ทั้งกรณีร้ายแรงและไม่ร้ายแรง มีแผน A แผน B จึงเป็นสิ่งสำคัญ”
คำถามคือ ไทยจะถูกกระทบจากนโยบายสหรัฐฯมากน้อยแค่ไหน ในด้านการผลิต การค้าจะต้องดูว่า สหรัฐฯจะขึ้นกำแพงภาษีกับประเทศใด ซึ่งขึ้นภาษีจีนแน่นอน และจะกระทบไทยในฐานะที่เราเป็นผู้ส่งออกสินค้าไปจีน
แต่ที่น่ากังวล คือ สหรัฐฯจะขึ้นกำแพงภาษีกับไทยโดยตรงหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่ว่าเขา มองว่าเราเป็นแหล่งผลิตสินค้าจีนมากเพียงใด เพราะที่ผ่านมา มีบริษัทของจีนมาลงทุนผลิตสินค้าในไทยจำนวนมาก ถ้าสหรัฐฯคิดว่าไทยเป็นฐานส่งออกของจีน และเราอยู่ในประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯในอันดับต้นๆ เขาก็มีโอกาสที่จะขึ้นกำแพงภาษีกับไทยโดยตรงได้ แต่ถ้าขึ้นภาษีจีนที่เดียว ก็มีโอกาสที่สินค้าไทยจะส่งออกไปทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน นักลงทุนจีนก็จะกระจายความเสี่ยงมาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น แต่จะมีทั้งสินค้าที่เราพึงประสงค์ และไม่พึงประสงค์ ซึ่งส่วนนี้จะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการในไทยซ้ำเติมผลกระทบจากสินค้าจีนราคาถูกที่จะเข้ามาทุ่มตลาดไทยเพิ่มขึ้น เพราะในปีหน้าเศรษฐกิจจีนเองก็ยังไม่ดี จากปัญหาภายใน และมีมาตรการกีดกันทางการค้ามาเพิ่ม สินค้าส่วนเกินจากที่จีนจะบริโภคได้จะเข้ามาทุ่มตลาดในไทย และแข่งขันกับสินค้าไทยในตลาดโลก
จากสงครามการค้ามาสู่สงครามจริงที่จะกระทบต่อราคาพลังงาน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการขนส่งสินค้า ในวันนี้มองว่าเมื่อทรัมป์ให้ความสำคัญกับอเมริกาเป็นหลัก การสร้าง Proxy War สนับสนุนเงิน อาวุธ หรือทหาร ไปช่วยประเทศคู่ขัดแย้งที่ทำสงครามกันอยู่จะน้อยลง ทำให้การสงครามจริงในหลายพื้นที่ของโลกไม่ลุกลามมากขึ้น
ดร.เบญจรงค์แนะให้ผู้นำเข้าส่งออก “ปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนในปีหน้าให้มากขึ้น เนื่องจากปีงูเล็ก จะเป็นปีที่ตลาดเงิน อัตราแลกเปลี่ยน และดอกเบี้ยทั่วโลกมีความผันผวนสูงมากเพราะทุกครั้งที่จะสหรัฐฯมีการออกนโยบาย จะกระทบต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก และส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมาก แต่ทุกวันนี้ในเวลาปกติมีผู้ส่งออกนำเข้าทำป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน แค่ 10-15% เท่านั้น ซึ่งในปีหน้าคนที่ไม่ได้ปิดความเสี่ยงอาจจะได้รับผลกระทบ”
ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจไทยปีหน้า ดร.เบญจรงค์มองว่าหากเปรียบเป็น “คนไข้” ประเทศไทยอยู่ในสถานะ “แค่ดีขึ้น” แต่ไม่ได้ “หายป่วย” ภาพรวมจะโตได้ 3% ขณะที่ส่งออกปีหน้าขยายตัวใกล้เคียงกันที่ประมาณ 3%
“คนไทยยังไม่รู้สึกว่าตัวเองดีขึ้น หรือเศรษฐกิจดีขึ้นมาก เพราะเราขยายตัวจากเครื่องยนต์เดิมๆ เช่น การบริโภค การท่องเที่ยวที่ยังคงดีอยู่และการส่งออกมาช่วย แต่เครื่องยนต์ที่ต้องลุ้นให้ทำงานในปีหน้า คือ การลงทุนของภาคเอกชน โดยหวังว่าการลงทุนภาครัฐช่วยหนุนเอกชนการลงทุน และที่ผ่านมา แม้ว่าเราดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้มากขึ้น แต่โครงสร้างเศรษฐกิจยังต้องปรับมากพอสมควร เพราะเครื่องยนต์เดิมยังสร้างรายได้ใหม่ได้ไม่มากเพียงพอ”
เราต้องช่วยกันหาเครื่องยนต์ใหม่ ซึ่งการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ การลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจสีเขียว ดึงเงินทุนและเทคโนโลยีต่างประเทศจะเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจได้ และส่วนนี้เป็นเหตุผลเอ็กซิมต้องกล้าพัฒนาเพื่อคนไทย ภายใต้ความไม่แน่นอนในปีหน้า ซึ่ง ดร.เบญจรงค์ มองว่า “หัวเราะทั้งน้ำตา” จะเป็นนิยามของเศรษฐกิจไทย
“หากใครเคยเล่นเกมส์งูไต่บันได เศรษฐกิจไทยปีหน้า “ปีงูเล็ก” จะเหมือนกำลังเล่นเกมส์งูไต่บันได ผลกระทบจะมีทั้งงู และบันได คือ มีโอกาสที่จะได้ขึ้นบันได แต่ถ้าเดินไม่ดี เจองูก็สามารถร่วงลงไปในจุดลึกๆของกระดานได้เช่นกัน และในปีหน้า ผมมองว่าก็สมกับเป็นปีงูเล็ก เราจะเจองูก่อน จากนั้นถึงจะได้ไต่บันได”
ดร.สันติธารมองด้วยว่า “งูตัวใหญ่” ที่สุด ที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญในปีหน้า จะมาจากนอกประเทศ โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายเศรษฐกิจของ “ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ” ซึ่งเป็นความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจทั่วโลก
ทั้งนี้ อาจจะมีคนพูดว่า นายทรัมป์ เป็นนักธุรกิจมากกว่านักการเมือง ทำให้บางคนคิดว่า จะสามารถเจรจาได้ และจะทำให้มาตรการกีดกันทางการค้าอาจจะไม่ได้แย่เท่าที่คาดไว้ แต่ผมมองตรงกันข้าม
“ผมมองว่าเมื่อเป็นการต่อรองทางธุรกิจ ในปีแรกทรัมป์จะต้องมาสายเหยี่ยวก่อน หากเป็นมาตรการภาษีก็ต้องออกให้สูงไว้ก่อน เพื่อให้มีการเจรจาต่อรองแลกเปลี่ยนในปีหลังๆ มากกว่าที่จะยอมเจรจาตั้งแต่เริ่ม”
และหากให้วิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย น่าจะมี 2 ส่วน เริ่มจากผลกระทบทางตรง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ 3 แบบ แบบแรก คือ รัฐบาลทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าทุกประเทศเท่ากัน 10% รวมทั้งไทยด้วย แบบที่ 2 ไม่ได้ขึ้นภาษีไทยโดยตรง แต่ปิดไม่ให้สินค้าที่จีนตั้งโรงงานในไทยส่งออก และแบบที่ 3 ผลกระทบจากที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของจีน เมื่อจีนได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้า ส่งออกได้น้อยลง การนำเข้าจากไทยก็ลดลงด้วย
ต่อจากผลทางตรงที่ต้องลุ้นว่า ไทยจะเจอหนักแค่ไหนแล้ว ยังมีผลทางอ้อมอีก 3 เรื่อง เรื่องแรก สินค้าจีนราคาถูกที่เข้ามาทุ่มตลาดในไทยจะทวีความรุนแรงขึ้น เพราะเวลานี้จีนใช้กำลังการผลิตเกินกว่ากำลังซื้อในประเทศ หากถูกกระทบเพิ่มจากการกีดกันการค้า นอกเหนือจากลดการนำเข้าสินค้าไทย สินค้าที่เกินกำลังการผลิตของจีนจะทะลักเข้ามา กระทบต่อผู้ประกอบการไทย อาทิ ธุรกิจปิโตรเคมี เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ และยานยนต์
มาถึงเรื่องที่ 2 นอกจากสินค้าจีนจะแย่งตลาดในไทยแล้ว สินค้าจีนยังจะแย่งตลาดสินค้าส่งออกของไทยไปประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกไทยในปี 2568 และเรื่องที่ 3 เป็นผลจากความกังวลในช่วงที่นโยบายทรัมป์ 2.0 ยังไม่ชัดเจน ทุกคนจะอยู่ในโหมดเฝ้าระวัง เกิดการชะลอของการลงทุนใหม่ ธุรกิจหยุดขยายกิจการส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจโดยรวมจะชะลอตัวลง
“ปีหน้าตลาดการเงินโลกจะผันผวนสูง เนื่องจากทรัมป์มุ่งเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เงินเฟ้อสูง ซึ่งจะทำให้การลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ให้ช้าลง จบเร็วขึ้น และเห็นความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ”
จากต่างประเทศมาต่อที่ปัจจัยภายใน ซึ่ง ดร.สันติธารให้ “คีย์เวิร์ด” สำหรับความเสี่ยงไว้ “3 ไม่”
“ไม่แน่นอน” ซึ่งจะเกิดความเสี่ยงจากหนี้ครัวเรือนของไทยที่ยังอยู่ในระดับสูง และแนวโน้มหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจจะส่งผลต่อความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชนและกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า
“ไม่เท่าเทียม” ดร.สันติธาร ให้ความเห็นว่า “ความไม่เท่าเทียมในสังคมไทยเกิดมานานแล้ว แต่ในปีหน้านี้จะยิ่งถ่างออก” จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในแบบตัว K คือ บางส่วนที่ขยายตัวดีขึ้น เช่น ภาคบริการที่เกี่ยวกับท่องเที่ยวดีขึ้น แต่บางอุตสาหกรรมมีปัญหายังไม่ฟื้น ทำให้รายได้แตกต่างกัน เข้าถึงสินเชื่อต่างกัน นอกจากนั้น การเข้าถึงสินเชื่อระหว่างบริษัทใหญ่กับเอสเอ็มอีก็ต่างกันด้วย และความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ จะส่งผลต่อเครื่องยนต์หลักๆของเศรษฐกิจปีหน้า
“ไม่จบเร็ว” ส่วนนี้มาจากปัญหาที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทยที่มาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งต้องมาจากการเพิ่มการลงทุนใหม่ อุตสาหกรรมใหม่ๆ การยกระดับการท่องเที่ยว ซึ่งกลายเป็นเครื่องยนต์หลักของไทย ให้เข้าสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูง เข้าสู่บริการทางสุขภาพ แต่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างยังต้องใช้เวลา “ปัญหาที่เราเผชิญอยู่คงไม่จบเร็ว”
“คงมีคำถามว่าแล้วการลงทุนใหม่จะมาจากไหน อย่างที่ผมบอกไว้ตั้งแต่แรก หลังจากเราเจองูเต็มๆในปีนี้แล้ว จะถึงเวลาของบันได ขึ้นอยู่กับเราจะฉวยโอกาสนี้ได้หรือไม่ และมากน้อยอย่างไร”
เพราะนโยบายทรัมป์ 2.0 ได้ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศเริ่มเปลี่ยนฐานการลงทุนเข้ามาไทยและอาเซียน เช่น ดาต้า เซ็นเตอร์ อีวี ฯลฯ เพราะต้องการเลี่ยงผลกระทบจากจีน นอกจากนั้น เงินทุนที่เคยอยู่ในประเทศอาเซียนมีทุนจากจีนเข้าไปมากๆ ที่ผ่านมา จะเริ่มกระจายการลงทุนมาไทยเพื่อลดความเสี่ยง เพราะประเทศนั้นๆ อาจจะถูกขึ้นภาษีนำเข้าตามจีนไปด้วย
และอีกประเด็นที่จะเป็นบันได คือ เราเริ่มเห็นคนเก่งๆ และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ระดับโลก ระดับภูมิภาคเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น เห็นการย้ายสำนักงานใหญ่ของบริษัทชั้นนำของโลก เช่น จากสิงคโปร์ ซึ่งแพงมาก ทั้งค่าครองชีพ ค่าเช่าที่ดินมาไทยมากขึ้น ซึ่งจะมีข้อดีทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี การใช้จ่าย และการเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น
“ท่ามกลางความปั่นป่วนยังมีโอกาส ซึ่งเราจะต้องมองหนทางข้างหน้าเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ ธุรกิจและตัวเราเองให้ดีขึ้น เช่น ติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ใช้ประโยชน์จากตลาดโลกและภูมิภาคมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น ขณะเดียวกันต้องวางแผนรับมือ Hope for the best, plan for the worst.”
“ปีหน้าจะเป็นปีที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นปีแห่งทางเลือกว่า เราจะเลือกเดินไปอย่างไรท่ามกลางปัญหาเดิมๆ ซึ่งยังหาทางออกไม่ได้ เวลานี้สิ่งที่ประเทศไทยเป็น คือ หาวิธีที่จะโตต่อไม่เจอ เหมือนเราเสียความสามารถในการเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจ ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เติบโตไม่ได้”
เรามีปัญหาในเชิงโครงสร้าง มีปัญหาการกระจายรายได้รุนแรง ขณะที่ในปีหน้า ยังไม่มีข่าวดีอะไรที่จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นจากที่เป็นอยู่ เปรียบเหมือน “คนที่เกาะขอนไม้อยู่ในมหาสมุทร” และแต่ละคนยังแตกต่างกันด้วย มีบางคนจมไปครึ่งตัว บางคนลอยคออยู่ หลายคนที่จมลงไปเหลือแค่จมูกไว้พอหายใจ ดังนั้น จะต้องทำอย่างไรเมื่อตื่นขึ้นมาชีวิตก็ติดลบแล้ว เพราะมีแต่หนี้ จะพ้นจากสถานการณ์นี้ก็ต้องเลือกเดินหน้า กล้าที่จะคิด กล้าที่จะเปลี่ยน
“สิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ทำตอนนี้คือ ดิ้นรนเอาตัวรอด ต้องอยู่กับงานที่รายได้ไม่เพิ่มขึ้น ไม่มีเวลาเพิ่มทักษะที่จะสร้างรายได้เพิ่ม ภาคธุรกิจไม่ได้ขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ สังคมไทยอยู่ในสถานะสูงอายุ คนไม่มีเวลาที่จะคิดหาอะไรใหม่ ไม่มีการสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ อุตสาหกรรมใหม่ สินค้าตัวใหม่ๆ ธุรกิจใหม่ ที่จะเป็นตัวยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้”
ขณะที่สิ่งที่รัฐบาลทำคือ พยุงให้ทุกคนในประเทศเกาะกันไป ลอยคอต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งก็รู้ว่าถ้าไปด้วยกันหมดคงไม่ได้ แต่ยังต้องพยุงกันไปก่อน ทำให้เมื่อเทียบเศรษฐกิจไทยในขณะนี้กับก่อนโควิด เราแทบจะยังไม่ฟื้น ในขณะที่ในบางประเทศ เช่น สหรัฐฯ เศรษฐกิจเขาฟื้นดีกว่าโควิดอย่างเห็นได้ชัด เพราะเขาใช้โอกาสในช่วงวิกฤติคัดเลือกธุรกิจที่ไปต่อได้ หากเป็นธุรกิจที่ไม่มีโอกาสเติบโตแล้ว ธุรกิจที่ไม่ตอบสนองต่อตลาดการค้าใหม่ คนที่อยู่ไม่ถูกที่ถูกทาง จะปล่อยให้ล้มไป เพื่อให้นักธุรกิจไปมุ่งหานวัตกรรม หาธุรกิจใหม่ที่สร้างความเจริญเติบโตได้มาทดแทน หรือในธุรกิจที่พอไปได้ก็ต้องพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ใช้ดิจิทัลเข้ามาเพื่อทดแทนคน สร้างสินค้าที่ตอบสนองกับโลกมากขึ้น
“ไม่ได้หมายความว่า ผมไม่สนใจคนตกงาน แต่การประคองคนที่อยู่ไม่ได้ไปเรื่อยๆมันไม่เวิร์ก แต่เมื่อมีการเลย์ออฟแล้ว ก็ต้องมีหนทางรองรับคนเหล่านี้ พัฒนาคนเหล่านี้ให้มีความสามารถในการทำงานขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง และต้องทำอย่างจริงจัง เพื่อช่วยให้คนเหล่านี้สามารถยกระดับรายได้ของเขาได้จริง”
ผมให้ความสำคัญกับการยกระดับทรัพยากร “คน” ต้องดึงเวลาของเขากลับมา มีเวลาให้คนได้คิด ลดภาระ การทำงานลงด้วยการใช้เทคโนโลยี ใช้ AI มาช่วยทำงาน เขาจะได้มีเวลาได้คิด มีเวลาหามุมมองใหม่ๆ ในการทำงาน สร้างสิ่งใหม่ๆ สร้างนวัตกรรม สร้างธุรกิจ เพื่อเป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
“อยากจะให้ผู้ใหญ่ในเมืองไทยให้โอกาสเด็กไทยที่คิดนอกกรอบ คิดบ้าๆตกขอบ เพราะจริงๆหากคุณให้โอกาสให้ทุนเขา เขาอาจสร้างธุรกิจใหม่ นวัตกรรมใหม่ที่เปลี่ยนโลกได้ วันนี้ Start up ไทยไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร และอยากจะให้มองในมุมใหม่ว่า “ความล้มเหลว ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะคนที่ประสบความสำเร็จธุรกิจใหญ่ๆทั่วโลก บางคนล้มเหลวมาเป็นสิบครั้ง การเปิดโอกาสให้ Start up ที่เคยล้มมาก่อน คุณอาจจะสร้างเศรษฐีใหม่ขึ้นมาก็ได้
และในมุมมองของคนไอที วันนี้คนไทย ธุรกิจไทยยังใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนของตัวเองของธุรกิจน้อยเกินไปอยู่ที่ 20% อยากให้มองว่ามันต้องทำไม่ใช่ทางเลือก และประเด็นสำคัญคือ ราคาของเทคโนโลยีวันนี้ต่ำลงมาก จากหลายปีที่แล้วต้องลงทุนหลักหลายล้าน วันนี้จ่ายหลักร้อยก็สามารถมี AI เป็นลูกน้องได้แล้ว ได้ลูกน้องใหม่ที่ทำงานได้มากแต่ค่าใช้จ่ายที่น้อย และยังช่วยให้ติดอาวุธให้คนที่ทำงานอยู่ได้ด้วย
“อย่างที่บอกว่าปีนี้เป็นปีของทางเลือก ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น มีปัจจัยจากต่างประเทศเข้ามากระทบเพิ่มขึ้น หากเราเลือกที่จะยกระดับตัวเอง นายจ้างเลือกว่าธุรกิจที่ทำอยู่ยังคงสร้างมูลค่าให้เราต่อไปได้หรือไม่ ลูกจ้างต้องยกระดับทักษะการทำงานของตัวเอง มองงานให้กว้างทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเลือกด้วยว่านายจ้างของเราเป็นนายจ้างที่ดีที่ช่วยให้เราเติบโต ช่วยเรายกระดับทักษะและเพิ่มรายได้หรือไม่
และท้ายที่สุดคนที่ไม่เลือกอะไรเลย ไม่ทำอะไรเลย จะเป็นคนที่ยากลำบากที่สุดในปีใหม่ 2568 นี้”.
ทีมเศรษฐกิจ
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่