เปิดคำตีความการหารือร่วมคณะกรรมการกฤษฎีกา 3 คณะ “กิตติรัตน์” มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ธปท. เพราะในการปฏิบัติหน้าที่ประธานที่ปรึกษาของนายกฯเศรษฐา ได้รับมอบหมายให้ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเป็นประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยซึ่งเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้ในการหาเสียง ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ทำบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ลักษณะต้องห้ามของประธานกรรมการ ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กรณีการเป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งที่ประชุมร่วมคณะกรรมการกฤษฎีกา 3 คณะ (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 คณะที่ 2 และคณะที่ 13) มีมติด้วยเสียงข้างมาก เห็นว่านายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท. เนื่องจากตำแหน่งประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่นายกิตติรัตน์ได้รับแต่งตั้งในสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากมีส่วนไปเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย
โดยมีรายละเอียดการพิจารณาดังนี้ ข้อเท็จ จริงปรากฏว่า การปฏิบัติหน้าที่ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี นายกิตติรัตน์ (เอกสารของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเขียนไว้ว่า นาย ก.) มิได้มีหน้าที่และอำนาจเฉพาะแต่การให้คำปรึกษาเสนอความเห็น หรือข้อเสนอแนะตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายแต่เพียงอย่างเดียว แต่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในลักษณะควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายสำคัญด้วย เช่น การที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายและแต่งตั้งให้นายกิตติรัตน์ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 316/2566 ซึ่งนโยบายการแก้ไขหนี้สินของประชาชนเป็นนโยบายที่พรรคการเมืองเพื่อไทย (เอกสารของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเขียนไว้ว่าพรรคการเมือง พ.) ใช้ในการหาเสียง ตลอดจนเป็นนโยบายของ ครม.ซึ่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นแถลงต่อรัฐสภาด้วย
ดังนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย จึงถือได้ว่าเป็น “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” เพราะได้รับการแต่งตั้งมาโดยเหตุผลและความสัมพันธ์ทางการเมืองและมีหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายสำคัญของพรรคการเมืองและของรัฐบาล ด้วยเหตุดังกล่าว นายกิตติรัตน์จึงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. ตามมาตรา 18 (4) ประกอบกับมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ
สำหรับคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 316/2566 นั้น คณะกรรมการดังกล่าวแต่งตั้งขึ้นตามมาตรา 11 (6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ ประกอบด้วยข้าราชการประจำซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำนโยบายสำคัญเรื่องการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยไปปฏิบัติให้เกิดผลขึ้นจริง โดยนำนโยบายรัฐบาลไปดำเนินการทางปกครองให้เกิดผลขึ้นจริง อันมิได้มีลักษณะเป็นการกำหนดนโยบายขึ้นใหม่แต่อย่างใด
ดังนั้น คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย จึงเป็นคณะกรรมการในการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่มีประเด็นเรื่องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ และมิใช่คณะกรรมการที่มีตำแหน่งทางการเมืองดังเช่นที่นายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจตามมาตรา 11 (6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ แต่งตั้งคณะกรรมการในการบริหารราชการแผ่นดินอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่