วันนี้ (18 ธ.ค. 68) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี โดยเห็นว่าแม้เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับความท้าทายจากการแข่งขันจากภายนอกที่รุนแรงขึ้น และความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก แต่ยังสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังฟื้นตัวได้ช้า จากบางกลุ่มอุตสาหกรรมเช่น อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ที่ประสบปัญหาความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง เงินเฟ้อที่โน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยคงประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจไว้ที่ 2.7% และ 2.9% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ และปรับลดประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปเหลือ 0.4% ในปี 2567 และ 1.1% ในปี 2568 ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน คาดว่าจะอยู่ที่ 0.6% และ 1.0% ตามลำดับ
ทั้งนี้มองไปในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความไม่แน่นอนที่ปรับสูงขึ้น จากหลายปัจจัย เช่น ทิศทางนโยบายการค้าโลก ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อต่อภาวะการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม โดยความเสี่ยงในปี 2568 มีมากขึ้นจากความไม่แน่นอน จึงมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่ำกว่า 2.9% สักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ปัจจุบัน กนง. คงจุดยืนนโยบายการเงินที่เป็นกลาง (neutral stance) เพื่อรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงิน(Policy space) เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่ปรับสูงขึ้น
โดยปัจจุบันโมเมนตัมเศรษฐกิจยังไปได้โดยเฉพาะไตรมาสนี้ และไตรมาส 1/2568 ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไตรมาส 3/2567 ที่ปรับดีขึ้น และตัวเลขการส่งออกที่เติบโตเกินคาด ทั้งนี้หากแนวโน้มเศรษฐกิจมีปัญหาอย่างชัดเจน ก็พร้อมพิจารณาลดดอกเบี้ย สำหรับความเสี่ยงในระบบการเงิน ยังมีประเด็นให้ต้องกังวล เนื่องจากความเสี่ยงไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยระยะยาวมองว่าความเสี่ยงหนี้ครัวเรือนจะลดลง จากปัจจุบันที่มีการชะลอตัว ด้านความเสี่ยงระยะสั้นจากสินเชื่อที่ตึงตัว การออกมาตรการแก้หนี้ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในช่วงที่ผ่านมา และมาตรการล่าสุดคุณสู้ เราช่วย ประกอบกับการลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง. ในเดือน ต.ค. ช่วยแบ่งเบาความเสี่ยงดังกล่าว
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ