ไม่ตาย แต่ไม่โต รู้จัก “บริษัทซอมบี้” หนี้สินรุงรัง - กำไรไม่พอจ่ายดอกเบี้ย ที่กำลังระบาดในไทย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ไม่ตาย แต่ไม่โต รู้จัก “บริษัทซอมบี้” หนี้สินรุงรัง - กำไรไม่พอจ่ายดอกเบี้ย ที่กำลังระบาดในไทย

Date Time: 13 ธ.ค. 2567 10:59 น.

Video

“โกษาปาน ดิสติลเลอรี่” สุรากลั่นเชื่อมวัฒนธรรม | BrandStory Special EP x เมรัยไทยแลนด์

Summary

  • “ไม่ตาย แต่ไม่โต” เหมือนผีดิบเดินได้ แต่ไร้วิญญาณ รู้จัก “บริษัทซอมบี้” หนี้สินรุงรัง - กำไรไม่พอจ่ายดอกเบี้ย ที่กำลังระบาดในประเทศไทย หลัง ttb analytics เผย บริษัทในอุตสาหกรรมต่างๆ กว่า 35.5% เริ่มติดเชื้อ อยู่รอด ด้วยสินเชื่อต่ำ หรือ มาตรการพักหนี้ และ หันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ มากขึ้น

Latest


มรดกตกทอด ตั้งแต่วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร เผยว่า ขณะนี้ ไม่ใช่แค่ปัญหาหนี้ครัวเรือน 16.3 ล้านล้านบาท ที่กำลังกัดกร่อนทิศทางเศรษฐกิจไทย แต่ปัญหา “หนี้ธุรกิจไทย” ก็มีสัญญาณน่าเป็นห่วงมากขึ้นเช่นกัน

โดยพบคุณภาพหนี้ธุรกิจมีทิศทางกลับมาถดถอยลง ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ที่สถาบันการเงินทยอยปลดมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน พบปัญหา “ธุรกิจยิ่งเล็ก หนี้เสียยิ่งเพิ่ม” และผู้ประกอบการหันไปพึ่งพาการกู้ยืมเงินจากหนี้นอกระบบมากขึ้น

ปัญหาเศรษฐกิจโตช้า ค่าครองชีพแพง ต้นทุนธุรกิจเพิ่ม และแข่งขันกับทุนต่างชาติที่เข้ามาไม่ได้ แม้ยังไม่ได้ทำให้ธุรกิจจิ๋วต่างๆ ล้มหายตายจากไปทันที แต่ไม่ตายก็เหมือน “ตาย” และเริ่มเห็นการแพร่เชื้อลามจากธุรกิจขนาดจิ๋วไปขนาดเล็กและขนาดกลางมากขึ้นด้วย

สอดคล้องข้อมูลล่าสุดของ ttb analytics ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี ที่รายงานว่า ขณะนี้ ประเทศไทยเต็มไปด้วยบริษัทซอมบี้กว่า 9.5% และอยู่ในภาวะ Zombie Firm หรือกลุ่มบริษัทติดเชื้ออีกสูงกว่า 35.5% ที่ไม่นานจะกลายเป็นบริษัทซอมบี้ ซึ่งอาจส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างไม่คาดคิด

5 อุตสาหกรรมที่กระจุกตัวของบริษัทซอมบี้สูงสุด

  • โรงแรมและการท่องเที่ยว
  • อสังหาริมทรัพย์
  • บริษัทส่วนบุคคล
  • ประมง
  • เครื่องดื่ม

เจาะความหมายที่แท้จริงและสถานการณ์ของบริษัทซอมบี้ ต้องระบุว่านี่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยข่าวใหญ่เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ก็คือ ประเทศญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับบริษัทซอมบี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 11 ปี โดยมีบริษัทกว่า 10,000 แห่งจ่อยื่นล้มละลาย เซ่นพิษดอกเบี้ยพุ่ง กระทบลามทั้งตลาดหุ้นและเศรษฐกิจของญี่ปุ่น

หรือย้อนไปเมื่อปีที่แล้ว ประเทศจีนก็เผชิญกับบริษัทซอมบี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ล้นตลาด กัดกร่อนภาคธุรกิจครั้งสำคัญ จนรัฐบาลต้องเข้ามาจัดการกวาดล้างแก้ปัญหาบริษัทที่ดำเนินการขาดทุนและไม่มีประสิทธิภาพให้เข้าสู่กระบวนการล้มละลายมากขึ้น

เพราะหากประเทศใดมีสัดส่วนบริษัทจำพวกดังกล่าวเยอะ สิ่งที่ตามมาก็คือ ผลลบต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากเงินของภาครัฐ เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือมาตรการพักชำระหนี้เพื่อให้อยู่รอด

กำไรต่ำ ธุรกิจไม่โต หนี้ท่วม แต่อยู่รอด นิยามของ "บริษัทซอมบี้"

สำหรับ Zombie Firm หรือ Zombie Company ของประเทศไทย ไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาที่ก่อตัวสะสมมาสักระยะหนึ่งแล้ว และหากจะให้นิยามความหมายอย่างแท้จริง ก็คือ บริษัทที่ประสบปัญหาในการจ่ายดอกเบี้ย เนื่องจากมีกำไรต่ำติดต่อกันเป็นเวลานาน

ขณะความหมายของกระทรวงพาณิชย์ ให้นิยามครอบคลุมคำว่า Zombie Firm ไปถึงกลุ่มบริษัทที่แม้มีกระแสเงินสดเพียงพอเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แต่กำไรที่ได้จากการดำเนินงานไม่เพียงพอจะชำระดอกเบี้ยจากเงินกู้

แต่ทว่าบริษัทเหล่านี้ยังคงมีเงินสดและดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและการเข้าถึงแหล่งเงินกู้อื่น ๆ มาหมุนเวียนต่อไปได้ คล้าย “ไม่ตาย แต่ไม่โต” เปรียบอย่างเข้าใจง่ายๆ ไม่ต่างจากผีดิบเดินได้แต่ไร้วิญญาณนั่นเอง

พ่นพิษทิศทางเศรษฐกิจ และ กลไกตลาด

ข้อมูลเสริมจาก SCB EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังชี้ว่า Zombie Firm คือ บริษัทที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป ที่มีอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio) ต่ำกว่า 1 เท่าติดต่อกันเป็นเวลา 3 รอบปีบัญชี

นอกจากนี้ บริษัทที่กลายเป็น Zombie Firm แล้ว ก็มีแนวโน้มหายยาก เป็นแล้วมักกลับไปเป็นอีก แต่ไม่ยอมออกจากตลาด จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม

โดย Zombie Firm มักกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีสินทรัพย์ขนาดเล็กที่สุด หรือในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ก่อตั้งมาเป็นเวลานาน

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า จากการที่บริษัทซอมบี้ หรือผีดิบ นั้น เป็นบริษัทที่มี “หนี้สินล้นพ้นตัว" มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และกลไกการแข่งขันของตลาดนั้นๆ

เพราะนอกจากรัฐและสถาบันการเงินต้องคอยให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทที่ควรล้มหายตายจากไปแล้ว เพื่อให้มีชีวิตรอดอยู่ต่อ ฉุดรั้งโอกาสบริษัทใหม่ๆ

บริษัทผีดิบยังจะทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินยังคงอยู่ อาจคอยตัดราคา ทำให้ธุรกิจอื่น ๆ ที่มีความสามารถในการปรับตัวเองได้และมีผลิตภาพสูง กลับอยู่รอดยากและเข้ามาแข่งขันไม่ได้

ไม่ต่างอะไรกับผีดิบซอมบี้ในภาพยนตร์ที่คอยวิ่งไล่กัดกินเนื้อคนอื่นและล้มตายไปด้วย และลามไปในระดับประเทศ เพราะส่งผลให้การจัดสรรทรัพยากรในระบบขาดประสิทธิภาพ ผลิตภาพโดยรวมและความสามารถในการแข่งขันของประเทศถดถอยลงตามมาอีกด้วย

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ