นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูการบินไทย แสดงความกังวลหลังจากกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังเสนอเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูอีก 2 คน โดยระบุว่าอาจทำให้กระบวนการตัดสินใจยุ่งยากและล่าช้า เนื่องจากปัจจุบันการบินไทยบริหารภายใต้คณะผู้บริหาร 3 คน ซึ่งมีความคล่องตัวกว่า โดยจะมีการพิจารณาเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูในการประชุมเจ้าหนี้วันที่ 29 พ.ย.นี้
เชื่อว่าหลายฝ่ายไม่ต้องการให้การบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล, พนักงานการบินไทย, ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ เพราะในการฟื้นฟูกิจการได้แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่าการที่การบินไทยมีสถานะเป็นเอกชนนั้นทำให้การฟื้นฟูกิจการสัมฤทธิ์ผลตามแผน สามารถกลับมามีกำไรสุทธิในปี 2566 ที่ 28,096 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะสถานะเอกชนมีความคล่องตัวในการบริหารงานสูงกว่า
“ตนยอมรับว่าตนมีความกังวลในเรื่องอื่นมากกว่าการที่การบินไทยจะกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ นั่นคือการจัดตั้งคณะกรรมการจำนวนไม่เกิน
15 คน ซึ่งจะมีการประชุมผู้ถือหุ้นช่วงเดือน เม.ย. 2568 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการ และหากมีบุคลากรจากฝ่ายรัฐเป็นเสียงข้างมากในคณะกรรมการในฐานะองค์กรเอกชน ก็น่าจะเกิดความวุ่นวายได้”
ทั้งนี้ การบินไทยอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายก่อนออกจากแผนฟื้นฟู และเตรียมกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยการแปลงหนี้เป็นทุนประสบความสำเร็จ ทำให้หนี้รวม 53,453 ล้านบาทถูกแปลงเป็นหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 20,989.4 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น คาดว่าส่วนของผู้ถือหุ้นจะกลับมาเป็นบวกภายในสิ้นปี 2567
นอกจากนี้ การบินไทยจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในส่วนถัดไปภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ จำนวนไม่เกิน 9,822.5 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุน และพนักงานของการบินไทยตามลำดับ ในราคา 4.48 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 44,004.7 ล้านบาทโดยสามารถจองซื้อและชำระเงินระหว่างวันที่ 6-12 ธ.ค.นี้
ทั้งนี้ โครงสร้างการถือหุ้นหลังจากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในเบื้องต้น คือ 1.กระทรวงการคลังถือหุ้น 33.4% 2.องค์กรรัฐวิสาหกิจ 4.1% 3.กองทุนวายุภักษ์ 2.8% 4.ผู้ถือหุ้นอื่น (เดิม) 2.8% 5.เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ 44.3% และ 6.ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างเงินทุน พนักงานการบินไทยและผู้ถือหุ้นเพิ่มทุนบุคคลในวงจำกัด (PP) ที่จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ 12.6%.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่