นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลกระทบนโยบาย “โดนัลด์ ทรัมป์” ต่อเศรษฐกิจไทยว่า หากทรัมป์ดำเนินนโยบายทุกอย่างตามที่หาเสียงไว้ ทั้งการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 60% และจากประเทศอื่นที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯ รวมถึงไทย 10-15% ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเสียหายถึง 160,472 ล้านบาท หรือทำให้การส่งออกไทยลดลง 1.52% ของส่งออกรวมและผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลง 0.87% แบ่งเป็น ความเสียหายทางตรงจากการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯลดลง 108,714 ล้านบาท และความเสียหายทางอ้อมจากการเป็นห่วงโซ่การผลิตของจีนและสหรัฐฯลดลง 51,758 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีผลกระทบทางตรงด้านอื่นอีกคือ ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากนโยบายกีดกันการค้าและการปรับขึ้นภาษีนำเข้า การลงทุนโดยตรงจากสหรัฐฯมีแนวโน้มลดลงจากนโยบาย “อเมริกามาก่อน” และการสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐฯ และการส่งออกไปสหรัฐฯที่ลดลง ทำให้สินค้าหลายรายการได้รับผลกระทบ ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม ยานพาหนะ ยางพาราและผลิตภัณฑ์
ส่วนผลกระทบทางอ้อม นอกจากทำให้การส่งออกวัตถุดิบจากไทยเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตของทั้งจีนและสหรัฐฯลดลงแล้ว ไทยยังต้องรับมือกับการทะลักเข้ามาของสินค้าจีน เพราะสหรัฐฯเก็บภาษีนำเข้าจากจีนสูงขึ้น โดยเฉพาะเครื่องจักรกล เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะ สิ่งทอ อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีโอกาสที่จะขยายส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯแทนสินค้าจีน ทั้งเครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางและผลิตภัณฑ์ ของเล่น ฯลฯ
ขณะที่นายพูนทวี ชัยวิจิตมลากูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ไตรมาส 4 คาดว่าการส่งออกไทยจะขยายตัว 1.2% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.12-2.21% ขณะที่ทั้งปี 67 คาดการส่งออกไทยขยายตัว 3.21% โดยช่วงคาดการณ์ที่ 2.95-3.46% ส่วนปี 68 หากนายทรัมป์ไม่ได้ดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้ คาดว่าการส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 2.80% มูลค่า 302,477 ล้านเหรียญ แต่หากปีหน้าสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าจีน 60% และไทย 10% ส่งออกจะขยายตัวเพียง 1.24% มูลค่าลดลงเหลือ 297,892 ล้านเหรียญ และกรณีแย่ที่สุด หากสหรัฐฯเก็บภาษีนำเข้าจากไทยเพิ่มเป็น 15% ส่งออกไทยจะขยายตัวแค่ 0.72% มูลค่าเหลือ 296,339 ล้านเหรียญ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ความเสียหายของเศรษฐกิจไทยจากนโยบายของทรัมป์ ที่ประเมินว่าจะสูงถึง 160,000 ล้านบาทนั้น มากกว่าเม็ดเงินที่รัฐใช้แจกเงิน 10,000 บาท ให้กับกลุ่มเปราะบางในรอบแรกที่ 145,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยย่อลงทันทีเกือบ 1% เช่น หากปีหน้ารัฐบาลตั้งเป้าหมายขยายตัว 3% ก็จะเหลือโต 2% กว่าๆ ดังนั้นก่อนที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และสงครามจริงจากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งทำให้เศรษฐกิจในประเทศแข็งแกร่ง และเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 3% และกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี เช่น มาตรการ e-Receipt นำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้ามาลดหย่อนภาษีที่จะช่วยอัดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจปลายปีไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท
ขณะที่การแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 ให้กับกลุ่มเปราะบางที่อายุ 60 ปีขึ้นไป วงเงิน 40,000 ล้านบาทนั้น คาดจะทำให้มีเงินหมุนในระบบช่วงแรก 20,000-30,000 ล้านบาท เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักไม่ค่อยใช้เงิน ประกอบกับมาตรการพักชำระดอกเบี้ย 3 ปี และมาตรการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่รัฐบาลควรทำให้เศรษฐกิจไทยปีหน้าโตเกิน 3% เพื่อทำให้คนไทยทั่วประเทศลืมตาอ้าปากได้ และสร้างเสน่ห์ให้เศรษฐกิจไทย เพราะประเทศอื่นโตเกิน 4% หมดแล้ว.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่