นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยว่า สำนักงานสถิติได้ทำสำรวจแรงงานนอกระบบทุกปี เพื่อให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะการทำงานและปัญหาที่เกิดจากการทำงานของแรงงานนอกระบบ ซึ่งหมายถึงผู้มีงานทำ ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน
โดยจากการสำรวจในปี 2567 พบว่า ผู้มีงานทำมีจำนวน ทั้งสิ้น 40.0 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบจำนวน 21.1 ล้านคน หรือ 52.7% ซึ่งมากกว่าแรงงานในระบบที่มีจำนวน 18.9 ล้านคน ที่ 47.3% โดยแรงงานนอกระบบเพศชายมีจำนวนมากกว่าเพศหญิง ส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของแรงงานนอกระบบ มากกว่าครึ่งทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม มีจำนวน 11.4 ล้านคน หรือ 54.2% รองลงมาทำงานในภาคการบริการและการค้า 36.2% และภาคการผลิต 9.6%
ขณะที่แรงงานในระบบทำงานอยู่ในภาคการบริการและการค้ามากที่สุด รองลงมาเป็นภาคการผลิตและภาคเกษตรกรรม นอกจากนั้นยังพบว่า แรงงานนอกระบบ 29.9% หรือ 6.3 ล้านคน พบปัญหาเกี่ยวกับการทำงาน โดย 47.7% มีปัญหาเรื่องค่าตอบแทน รวมทั้งมีปัญหาจากสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ที่พบมากที่สุด 36.5 % คือปัญหา ไม่ค่อยได้เปลี่ยนลักษณะท่าทางในการทำงาน และ 61.8% บอกมีปัญหาจากสารเคมี สะท้อนความไม่ปลอดภัยจากการทำงาน
เมื่อพิจารณาแนวโน้มของแรงงานนอกระบบระหว่างปี 2563 - 2567 พบว่า ช่วง 3 ปีแรก ระหว่างปี 2563 - 2565 มีแนวโน้มลดลง และค่อย ๆ เพิ่มเป็น 52.3% ในปี 2566 จนถึง 52.7% ในปัจจุบัน