รมว.พาณิชย์ “พิชัย” หารือผู้บริหารพาณิชย์-ทูตพาณิชย์-พาณิชย์จังหวัด รับมือการค้า-ลงทุน หลัง “ทรัมป์” ชนะเลือกตั้งศึกชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำชับเร่งหาโอกาสการค้า-ลงทุน แต่เชื่อไทยได้ประโยชน์ จากการส่งออกสินค้าไปทดแทนจีน-ย้ายฐานลงทุนออกจากจีน
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหาร ทูตพาณิชย์ และพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อติดตามนโยบายและขับเคลื่อนมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาล พร้อมเตรียมการรับมือหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯว่า ได้ประชุมติดตามนโยบายและขับเคลื่อนมาตรการเร่งด่วนของนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เพื่อให้นโยบายของกระทรวงพาณิชย์สอดคล้องกับของรัฐบาล ทั้งภารกิจในประเทศและต่างประเทศ พร้อมกับสั่งการให้ทูตพาณิชย์และพาณิชย์จังหวัดทำงานร่วมกัน เพื่อเร่งหาโอกาสด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนให้กับประเทศ
นอกจากนี้ยังได้หารือถึงการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงผู้นำของสหรัฐฯ ซึ่งมองว่า หากไทยวางท่าทีที่เป็นกลาง และเป็นมิตรกับทุกประเทศอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน รัสเซีย ยุโรป ตะวันออกกลาง ฯลฯ จะเป็นประโยชน์มาก เพราะทุกประเทศต้องการทำการค้าและลงทุนด้วย และเชื่อว่าไทยจะเพิ่มการส่งออกไปสหรัฐฯได้ หากสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนที่ดำเนินอยู่แล้วจะรุนแรงขึ้น เพราะสหรัฐฯจะนำเข้าสินค้าจากไทยทดแทนการนำเข้าจากจีน และเพื่อประโยชน์ต่อการส่งออก อยากเห็นค่าเงินบาทอยู่ที่ 36-37 บาท/เหรียญ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ชี้ให้เห็นไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังสหรัฐฯ เปิดสงครามการค้ากับจีนในปี 61 โดยปี 61 ส่งออกไปสหรัฐฯ 28,041 ล้านเหรียญ สัดส่วน 11.1% ของการส่งออกของไทยไปโลก แต่ปี 62 เพิ่มเป็น 31,348 ล้านเหรียญ สัดส่วนเพิ่มเป็น 12.7% และล่าสุดปี 66 อยู่ที่ 48,352.8 ล้านเหรียญ สัดส่วน 17% ขณะที่ช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปีนี้ อยู่ที่ 40,611 ล้านเหรียญ สัดส่วน 18.2% ส่วนการนำเข้าจากจีนลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยปี 61 นำเข้า 538,514 ล้านเหรียญ ลดลงเหลือ 449,111 ล้านเหรียญในปี 62 และล่าสุดปี 66 เหลือเพียง 427,229 ล้านเหรียญ
“ส่วนเรื่องการลงทุนเราต้องพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ไม่ว่าใครจะมีความขัดแย้ง แต่เราจะหาโอกาสที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งขณะนี้จะเห็นการลงทุนจากสหรัฐฯเข้ามามากขึ้น บริษัทขนาดใหญ่ขยายการลงทุนด้านฮาร์ดดิสก์ อาทิ Seagate, Western Digital และวันที่ 25-27 พ.ย.นี้ คณะนักธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียนจะมาไทยอีก เชื่อว่าประเทศไทยจะได้รับประโยชน์เต็มที่”
สำหรับกรณีที่นโยบายของนายทรัมป์ที่มุ่งขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯ 10-20% และไทยอาจตกเป็นเป้าหมาย เพราะไทยได้ดุลการค้าสหรัฐฯมาอย่างต่อเนื่องนั้น นายพิชัยกล่าวว่า โดยพื้นฐานของคนอเมริกัน จะให้ประโยชน์กับคนที่ให้ประโยชน์กับเขา ถ้าเรามีประโยชน์แลกเปลี่ยนกันก็ไม่น่ามีปัญหา และเขาก็ไม่น่า mind อะไร หากการได้ดุลการค้าของไทยมาจากการส่งออกสินค้าที่ลงทุนโดยนักลงทุนสหรัฐฯในไทย สหรัฐฯก็จะไม่บล็อกเรา โดยสิ่งที่เราแลกกับสหรัฐฯขณะนี้น่าจะเป็นเรื่องการที่ไทยเปิดกว้างรับการลงทุนจากสหรัฐฯ และให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุนสหรัฐฯอย่างเต็มที่
ส่วนกรณีที่สินค้าจีนอาจส่งออกไปสหรัฐฯไม่ได้ และจะหันมาถล่มส่งออกไปยังประเทศต่างๆรวมถึงไทยด้วยนั้น นายพิชัยกล่าวว่า ไทยมีคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ที่ตั้งโดยนายกรัฐมนตรี และมีตนเป็นประธานอยู่แล้ว จึงไม่น่าห่วง เพราะคณะกรรมการชุดนี้ กำลังทำงานอย่างเข้มข้นในการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้
“การเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ผมอยากให้มองในแง่ดี ไม่อยากให้มองแง่ลบ และมองว่า ไทยจะได้ประโยชน์มากจากการย้ายฐานการผลิต การส่งออกสินค้าไปทดแทนจีน โดยกลุ่มสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์จากการส่งออกทดแทนจีน เช่น อาหาร อาหารแปรรูป เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากการย้ายฐานผลิต เช่น กลุ่มสินค้าไฮเทค เป็นต้น และมองว่าการส่งออกของไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อาจขยายตัวได้ถึง 4-5% หากกลุ่มที่ย้ายฐานผลิตมาไทยเริ่มส่งออกได้ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 4-5% ต่อปีเช่นกัน”
ด้านนางสาวภาวิณี จิตต์มงคลเสมอ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนจากความไม่แน่นอนเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยหลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เงินดอลลาร์สหรัฐฯปรับแข็งค่าขึ้น ตามการคาดการณ์แนวนโยบายในระยะถัดไป ส่งผลให้เงินบาทปรับอ่อนค่าลงสอดคล้องกับภูมิภาคมาเคลื่อนไหวเหนือระดับ 34.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย 0.42% โดยการเคลื่อนไหวของเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายยังอยู่ในระดับปกติ.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่