Pet tourism ท่องเที่ยวพร้อมสัตว์เลี้ยง มาแรง เจ้าของพร้อมทุ่มเงิน-เวลา โอกาสทางธุรกิจ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

Pet tourism ท่องเที่ยวพร้อมสัตว์เลี้ยง มาแรง เจ้าของพร้อมทุ่มเงิน-เวลา โอกาสทางธุรกิจ

Date Time: 4 พ.ย. 2567 11:34 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • เทรนด์ Pet tourism ท่องเที่ยวพร้อมสัตว์เลี้ยง กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เจ้าของพร้อมทุ่มเงิน-เวลา พาลูกรักท่องโลก โอกาสทางธุรกิจ โรงแรม ร้านอาหาร ฯล

Latest


เทรนด์ Pet tourism หรือการท่องเที่ยวพร้อมสัตว์เลี้ยง กำลังเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ที่นิยมมากขึ้น ทั้งในไทยและต่างประเทศ สำหรับหมู่ผู้มีสัตว์เลี้ยง คาดมาจาก 2 ปัจจัยหลักๆ ได้แก่

  • กระแส Pet humanization จากที่ในปัจจุบันกลุ่มผู้มีสัตว์เลี้ยงหันมาเลี้ยงสัตว์เสมือนลูกหรือสมาชิกครอบครัว (Pet parent) มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เจ้าของยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อสัตว์เลี้ยงค่อนข้างสูง ทั้งด้านอาหาร ด้านสุขภาพ รวมถึงการพาสัตว์เลี้ยงออกไปท่องเที่ยวด้วยกัน
  • จำนวนสัตว์เลี้ยงและผู้มีสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจำนวนสัตว์เลี้ยงทั้งสุนัข แมว และสัตว์อื่น ๆ เช่น นก ปลา เพิ่มขึ้นราว 2.5% และยังสอดคล้องกับจำนวนครัวเรือนที่มีสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นในอัตราใกล้เคียงกัน อีกทั้งในช่วงปี 2025F-2028F จำนวนสัตว์เลี้ยงยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องราว 2.6%

ซึ่งจากแนวโน้มดังกล่าว SCB EIC ประเมินว่า จะกลายเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายให้กับกลุ่มธุรกิจเกี่ยวข้อง สะท้อนจากจำนวนธุรกิจที่พร้อมให้บริการด้าน Pet tourism มีเพิ่มมากขึ้น โดยปริมาณบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงเติบโต 17% ในช่วงปี 2015-2023 ทั้งในกลุ่มขายปลีกอาหารสัตว์เลี้ยง กลุ่มบริการทางการแพทย์ และกลุ่ม Pet care อีกทั้งธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารจำนวนมากยังขยายบริการใหม่สำหรับกลุ่มผู้มีสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะด้วย

ขณะปัจจัยเร่งที่สำคัญ ยังมาจากเมื่อเร็วๆ นี้ ภาครัฐได้ออกมาตรการสนับสนุน Pet tourism โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผุดโครงการ Amazing Happy Paws โดยมีการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวที่ให้เจ้าของและสัตว์เลี้ยงสามารถท่องเที่ยวด้วยกันอย่างมีความสุขและปลอดภัยอีกด้วย

เจาะ Ecosystem ของธุรกิจใน Pet tourism ประกอบไปด้วย

- ธุรกิจโรงแรม
- ธุรกิจร้านอาหารและคาเฟ่
- ธุรกิจบริการสุขภาพและเวลเนสสัตว์เลี้ยง
- ธุรกิจทัวร์นำเที่ยว
- ประกันภัยสัตว์เลี้ยง
- ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า
- ธุรกิจขนส่งและสายการบิน

ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า มีโรงแรมหลายแห่งเริ่มเสนอบริการให้ผู้เข้าพักสามารถพาสัตว์เลี้ยงมาด้วยได้ ขณะร้านอาหารและคาเฟ่เริ่มเปิดโซน Pet friendly เพิ่มขึ้น

ข้อมูล SCB EIC ยังระบุว่า จากเทรนด์ดังกล่าว ธุรกิจโรงแรมมีโอกาสได้รับรายได้เพิ่มจากค่าเข้าพักของสัตว์เลี้ยง และการเพิ่มอัตราการเข้าพักจากการเจาะตลาดใหม่อย่างกลุ่ม Pet tourist ทั้งนี้จำนวนธุรกิจโรงแรม Pet friendly ในไทยมีอยู่ราว 12.5% จากทั้งหมดและส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพัทยาและหัวหิน

ตัวอย่างราคาและรายละเอียดที่พัก Pet friendly ในไทย

- ค่าเข้าพักของสัตว์เลี้ยงตั้งแต่ 500-2,000 บาท
- ค่ามัดจำเข้าพักตั้งแต่ 1,000-3,000 บาท
- จำนวนสัตว์เลี้ยงกำหนดให้ไม่เกิน 2 ตัว
- สิ่งอำนวยความสะดวก ชามใส่น้ำและอาหาร / แผ่นรองขับถ่าย / เบาะนอน / สายลากจูง และถุงเก็บอุจจาระ

ส่วนกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร มีการขยับใน 2 รูปแบบ คือ

1. ร้านอาหารที่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าได้แต่ไม่มีบริการอื่นให้กับสัตว์เลี้ยง
2. ร้านอาหารที่มีเมนูอาหารหรือเครื่องดื่มพิเศษสำหรับสัตว์เลี้ยงที่นำมาด้วย

ตัวอย่าง Shake Shack อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงมานั่งในบริเวณโต๊ะหน้าร้านได้เท่านั้น และต้องใส่สายจูง โดยมีเมนูอาหาร Bag O’Bones ราคา 35 บาทให้บริการ หรือ Greyhound เปิดโซน Dog friendly แต่ต้องใส่สายจูงหรืออยู่ในกล่องตลอดเวลา และมีเมนูอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงทั้งจากเนื้อวัว ไก่ และเครื่องดื่ม Dogtail ให้บริการ

ขณะในกลุ่มธุรกิจการบิน ปัจจุบันเส้นทางในประเทศ มีสายการบิน 3 รายที่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเดินทางไปด้วยแต่จะต้องโหลดใต้ท้องเครื่องเท่านั้น ได้แก่

การบินไทย: เฉพาะสุนัขและแมว น้ำหนักไม่เกิน 32 กก. ค่าเดินทาง น้ำหนัก 1 – 15 กก. 1,500 บาท // น้ำหนัก 16 – 32 กก. 2,500 บาท

นกแอร์: เฉพาะสุนัข แมว กระต่าย น้ำหนักไม่เกิน 30 กก. ค่าเดินทาง น้ำหนัก 1 – 15 กก. 1,500 บาท // น้ำหนัก 16 – 30 กก. 2,000 บาท

บางกอกแอร์เวย์ส: เฉพาะสุนัขและแมว AT72 ไม่เกิน 20 กก. // A319, A320 ไม่เกิน 30 กก. ค่าเดินทาง กก. ละ 180 บาท

“เทรนด์ Pet tourism ที่เติบโตทั่วโลกได้ส่งเสริมให้เกิดกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางพร้อมสัตว์เลี้ยงเพิ่มมากขึ้น โดยขั้นตอนเดินทางที่ไม่ยุ่งยากประกอบกับค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมจะช่วยส่งเสริมให้การท่องเที่ยวในเส้นทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น”

อย่างไรก็ดี แม้เทรนด์ Pet tourism จะเป็นโอกาส แต่ก็มีความท้าทายที่ธุรกิจต้องเผชิญเช่นกัน คือ การรักษาสมดุลระหว่างกลุ่มลูกค้ารักสัตว์และไม่คุ้นเคยกับสัตว์ และต้นทุนค่าบริการที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งภาคธุรกิจต้องนำเสนอบริการที่ได้มาตรฐาน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อีกด้วย

ที่มา : SCB EIC 

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ