นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อัปเดตประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 และ 2568 โดยในปีนี้ กระทรวงการคลังยังคงประมาณเศรษฐกิจไทยไว้ที่ 2.7% จากประมาณการครั้งก่อน โดยคาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นจากปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 1.9% โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก โดยในปี 2567 คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 36 ล้านคน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะขยายตัว 4.6% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อน แม้จะมีแรงกดดันจากอุทกภัย แต่ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับกลุ่มคนเปราะบาง สามารถช่วยชดเชยและสร้างความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายให้กับประชาชน
สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ 2.9% เนื่องจากมีสัญญาณฟื้นตัวดีกว่าคาดในไตรมาสที่ 2 และ 3 โดยผู้ประกอบการไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นแทนที่สินค้าจีนที่ถูกปรับขึ้นภาษีจากสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ การบริโภคภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ 2.1% และการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ 0.8% อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าหดตัวที่ 1.9% เนื่องจากการหดตัวของการลงทุนด้านเครื่องจักรเครื่องมือโดยเป็นผลมาจากยอดขายรถยนต์สันดาปที่ลดลง ซึ่งต้องจับตาการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างใกล้ชิด
สำหรับปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้น 3% ซึ่งเป็นการขยายตัวมากที่สุดหลังโควิด เป็นผลมาจากปัจจัยบวก 4 ด้านหลัก คือ การบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 2.9%, การส่งออกสินค้า คาดว่าจะขยายตัว 3.1% ตามอุปสงค์ตลาดโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า, การท่องเที่ยว คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 39 ล้านคน ใกล้เคียงระดับก่อนโควิด ซึ่งอยู่ที่ 43 ล้านคน รวมถึงการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีหน้า
1. การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 2.3% ขยายตัวเร่งขึ้นจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผ่านมาตรการของ BOI โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
2. การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวที่ 4.7% จากการเร่งรัดการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนและการเร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และโครงการรถไฟทางคู่ในเส้นทางต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพการแข่งขันและกระตุ้นการลงทุนต่อเนื่องในภาคเอกชน
ทั้งนี้การลงทุนภาครัฐและเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ เป็นผลมาจากความพร้อมในการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2568 ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2567
ด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.0% เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวดี ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 10.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.7% ของ GDP
อย่างไรก็ตาม ยังควรติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด ได้แก่
1. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น สถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา และความกังวลเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้เกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์หลังมีการซ้อมรบของกองทัพเรือจีนและรัสเซียในบริเวณดังกล่าว รวมถึงการขยายบทบาทของกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ BRICS และการรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการเชิงยุทธศาสตร์ของกลุ่มประเทศ CRINK (จีน รัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ) ที่อาจสร้างแรงกดดันต่อสหรัฐอเมริกาในเรื่องระเบียบโลกใหม่
2. ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาและทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่
3. การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย
4. ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่จะบั่นทอนการใช้จ่ายในระยะต่อไป
5. ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัด
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney