บัตรคนจนใช้งบ 3 แสนล้าน ใน 6 ปี รัฐบาลหา “คนจนตัวจริง” เจอหรือยัง?

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

บัตรคนจนใช้งบ 3 แสนล้าน ใน 6 ปี รัฐบาลหา “คนจนตัวจริง” เจอหรือยัง?

Date Time: 30 ต.ค. 2567 13:03 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • สถานการณ์ความยากจนในไทยปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา สะท้อนจากสัดส่วนคนจนที่ลดลงจาก 65% ในปี 2528 เหลือ 3.41% ในปี 2566 จนทำให้ปัจจุบันมีคนจนอยู่ที่ 2.39 ล้านคน สวนทางกับผู้ได้รับสิทธิ์บัตรคนจนที่ไม่ลดลงเลย ทำให้ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้งบอุดหนุนไปมากกว่า 3.3 แสนล้านบาท

Latest


กลายเป็นที่พูดถึงอีกครั้งสำหรับ Negative Income Tax (NIT) หรือ ภาษีเงินได้ติดลบ สวัสดิการบนฐานแนวคิดระบบภาษีที่มุ่งจูงใจให้ผู้มีรายได้น้อยที่มีเงินได้ต่ำกว่าเกณฑ์ เข้าสู่ระบบภาษี หลังรัฐบาลแพรทองธารเตรียมปฏิรูประบบภาษีด้วยแนวคิดดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาคนจน ลดความเหลื่อมล้ำ ลดภาระการคลังที่ใช้จัดสวัสดิการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางรายได้ของรัฐบาลที่ลดลง เนื่องจากมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ทำให้ไทยขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 20 ปี

ล่าสุดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการปฏิรูประบบภาษีไปสู่ Negative Income Tax โดยคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 1-2 ปี คำถามคือ การหยิบแนวคิดดังกล่าวกลับมาทบทวน เพื่อหวังลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการนำแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อยเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น จะช่วยให้รัฐบาลสามารถระบุตัวคนจนได้แม่นยำมากขึ้น และใช้งบประมาณช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด กำลังสะท้อนว่าที่ผ่านมาการบริหารงบประมาณสวัสดิการอาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทำให้เงินอุดหนุนไปไม่ถึง “คนจนตัวจริง” แม้จะดำเนินโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) มาแล้ว 6 ปีก็ตาม

คนจนน้อยลง สวนทางงบบัตรคนจน 3 แสนล้านบาท

โครงการเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ, บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่เราเรียกกันคุ้นปากว่า “บัตรคนจน” มีจุดเริ่มต้นในปี 2559 โดยรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการปฏิรูปการดำเนินนโยบายการจัดสรรสวัสดิการของประเทศไทย และสร้างระบบฐานข้อมูล ระบุตัวตนและติดตามข้อมูลผู้มีรายได้น้อยและคนยากจน ผ่านการให้เงินอุดหนุน ลดภาระค่าครองชีพ เพื่อยกระดับคนกลุ่มนี้ให้พ้นจากความยากจน จึงเปิดให้ลงทะเบียนครั้งแรกในปี 2560 โดยมีผู้มาลงทะเบียน 14 ล้านคน และมีผู้ได้รับสิทธิ์ 11.4 ล้านคน และนำไปสู่การแจกเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 1 จากนั้นในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มกราคม ปี 2561 ได้มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 2 โดยให้แจกเงินอุดหนุนไปพร้อมกับให้การอบรมพัฒนาทักษะวิชาชีพ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีงานทำเลี้ยงตัวเองได้ ต่อมาในปี 2561 ได้เปิดให้มีการลงทะเบียนรอบเพิ่มเติม โดยขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งเป็นกลุ่มตกหล่นจากการลงทะเบียนในระยะที่ 2 ทั้งนี้เมื่อรวมทั้งสองปี มีคนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 18.7 ล้านคน ในการลงทะเบียนโครงการฯ รอบล่าสุดในปี 2565 พบว่า มีคนลงทะเบียนในโครงการฯ ทั้งหมด 22 ล้านคน

โดยผู้ที่ได้รับสิทธิ์จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  • อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
  • รายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
  • มีทรัพย์สินในวันที่ตรวจสอบไม่เกิน 100,000 บาท
  • ไม่มีวงเงินกู้ซื้อรถ 1 ล้านบาทขึ้นไป และไม่มีวงเงินกู้ซื้อบ้าน 1.5 ล้านบาทขึ้นไป
    ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์

จะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่มีการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีคนไทยสนใจลงทะเบียนจำนวนมาก และเมื่อย้อนดูตัวเลขผู้ได้รับสิทธิ์และงบประมาณที่ใช้อุดหนุนในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา (2561-2566) พบว่า รัฐบาลใช้งบประมาณรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 3.3 แสนล้านบาท ขณะที่ตัวเลขผู้ได้รับสิทธิ์เฉลี่ยปีละ 13-14 ล้านคน ซึ่งไม่ลดลงเลย สวนทางกับตัวเลขคนจนตามนิยามเส้นความยากจนจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 2.39 ล้านคนในปี 2566

เงินอุดหนุนบัตรคนจน ตามปีงบประมาณ (2561-2566)

  • ปีงบประมาณ 2561 ใช้งบประมาณ 43,614.5 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ 14.2 ล้านคน
  • ปีงบประมาณ 2562 ใช้งบประมาณ 93,155.4 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ 14.6 ล้านคน
  • ปีงบประมาณ 2563 ใช้งบประมาณ 47,843.5 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ 13.9 ล้านคน
  • ปีงบประมาณ 2564 ใช้งบประมาณ 48,216.0 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ 13.5 ล้านคน
  • ปีงบประมาณ 2565 ใช้งบประมาณ 34,986.4 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ 13.2 ล้านคน
  • ปีงบประมาณ 2566 ใช้งบประมาณ 65,413.80 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ 14.6 ล้านคน

จำนวนคนจนผู้ได้รับสิทธิ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับจำนวนคนจนตามเส้นความยากจนที่ขัดแย้งกันอาจสะท้อนได้ว่าระบบคัดกรองคุณสมบัติโครงการฯ มีช่องโหว่ ทำให้เงินอุดหนุนหลุดไปอยู่ในมือคนที่ไม่ใช่ “คนจนตัวจริง” เนื่องจากเกณฑ์คัดกรองบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้ฐานรายได้ที่ค่อนข้างกว้าง อยู่ที่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่มีทั้งคนรายได้น้อยที่เกือบจนและคนจน ทำให้เมื่อเฉลี่ยรายได้ต่อเดือนแล้ว มีมูลค่าสูงกว่าเส้นความยากจน ซึ่งกำหนดค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคขั้นต่ำของคนไทยไว้ที่ 3,034 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับคนจนส่วนใหญ่ที่เป็นแรงงานนอกระบบ

เกณฑ์วัดความจน อุปสรรคค้นหา “คนจนตัวจริง”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การไม่มีฐานข้อมูลคนจน ซึ่งเป็นระบบกลางเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลคนจนของแต่ละหน่วยงานเข้าด้วยกันก็เป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้รัฐบาลระบุ “คนจนตัวจริง” ได้ยากขึ้น เนื่องด้วยแต่ละหน่วยงานมีเกณฑ์การคัดกรองคุณสมบัติคนจนที่แตกต่างกัน ปัจจุบันเกณฑ์จำแนกคนจนที่มักถูกนำมาใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงเพื่ออธิบายสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำและความยากจนในไทย มาจาก 2 หน่วยงาน ได้แก่ เส้นความยากจน (Poverty line) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติและคนจนเป้าหมายในระบบ TPMAP ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โดยเส้นความยากจนเป็นเครื่องมือสำหรับใช้วัดภาวะความยากจน โดยคำนวณจากต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายรายบุคคลในการได้มา ซึ่งอาหารหรือสินค้าจำเป็นพื้นฐานในการใช้ชีวิตอื่น ๆ ตามปัจจัย 4 ที่นอกจากอาหาร ซึ่งก็คือ ยา เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย โดยในปี 2566 ไทยมีเส้นความยากจนอยู่ที่ 3,034 บาทต่อเดือน หมายความว่าใครที่มีรายจ่ายขั้นพื้นฐานต่ำกว่าเส้นความยากจนก็จะถือเป็นคนจนนั่นเอง ทำให้ปัจจุบันมีจำนวนคนจนทั้งหมด 2.39 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 3.41% ของประชากรทั้งหมด ลดลงจากปี 2565 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 5.43%

โดยคนจนแบ่งเป็น 3 กลุ่มตามระดับความรุนแรง ได้แก่

  • คนจนมาก คือ คนที่มีระดับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคต่ำกว่าเส้นความยากจนเกินกว่า 20%
  • คนจนน้อย คือ คนที่มีระดับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคต่ำกว่าเส้นความยากจนไม่เกิน 20%
  • คนเกือบจน คือ คนที่มีระดับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคสูงกว่าเส้นความยากจนไม่เกินร้อยละ 20

สำหรับเกณฑ์จำแนกคนจนในระบบ TPMAP จะเป็นการสำรวจประชากรจากฐานข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และข้อมูลผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐของกระทรวงการคลัง แล้วนำวิเคราะห์ด้วยดัชนีความยากจนหลายมิติ (MPI) โดยพิจารณาจากปัญหาใน 5 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านความเป็นอยู่ ด้านการศึกษา ด้านรายได้ และด้านการเข้าถึงบริการรัฐ เพื่อหา “คนจนเป้าหมาย” ซึ่งเป็นคนจนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน โดยคนจน 1 คน อาจมีปัญหามากกว่า 1 ด้าน โดยในปี 2567 ประเทศไทยมีคนจนเป้าหมายรวมทั้งหมด 813,054 คน จากการสำรวจประชากร 34,770,696 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 211,739 คน จากการสำรวจประชากร 36,130,610 คน

เมื่อเปรียบเทียบเกณฑ์จำแนกคนจนของทั้งสองหน่วยงาน จะพบว่าการจำแนกคนจนในระบบ TPMAP นั้นครอบคลุมสถานการณ์ความยากจนมากกว่า เนื่องจากความยากจนไม่ได้จำกัดอยู่แค่มิติตัวเงินเท่านั้น โดยระบบ TPMAP สามารถระบุปัญหาที่เกี่ยวกับความยากจนได้ 3 ข้อ ได้แก่ คนจนอยู่ที่ไหน? คนจนมีปัญหาอะไร? จะพ้นความยากจนได้อย่างไร? นอกจากนั้น ยังสามารถเปรียบเทียบข้อมูลปีต่อปี ทำให้เห็นทิศทางความรุนแรงสถานการณ์ปัญหาความยากจน ซึ่งสามารถนำมาใช้ประเมินปัจจัยที่อาจส่งผลต่อปัญหาดังกล่าว หรือประเมินประสิทธิภาพของนโยบายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นได้ ซึ่งจะช่วยให้การแก้ปัญหาตรงจุด และเลือกนโยบายได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ