นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวหลังพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2567 ณ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้า รวมถึงภาพรวมความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย
“จนถึงขณะนี้กำลังจะผ่านเดือน ต.ค. ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ถือว่า “สบายใจขึ้น” แต่เนื่องจากในช่วงปลายปีเกิดภาวะน้ำท่วม ทำให้ คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 นี้จะต่ำกว่า 3% เล็กน้อย แต่ถือว่าเศรษฐกิจไทย “พ้นพงหนาม” แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีกับระเบิดอีก 2-3 เรื่องสำหรับปี 2568 โดยแม้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดี ต่อเนื่อง โดยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีนี้ 3% บวกลบ แต่ทั้งนี้ ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยง
ทั้งนี้ ด้านต่างประเทศมีปัจจัยเสี่ยง 2 เรื่อง เรื่องแรกใกล้ๆนี้ในวันที่ 5 พ.ย.ที่จะถึงนี้ เป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยหากนายโดนัลด์ ทรัมป์ หรือนางกมลา แฮร์ริส ชนะจะส่งผลกระทบต่อโอกาสที่จะเกิดสงครามทาง การค้า และผลต่อการไปต่อหรือจบสงครามในพื้นที่จริงที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ขณะที่ปัจจัยที่สองคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่กระทบโดยตรงกับภาคการส่งออกของไทย ซึ่งผมมองว่าจีนยังไม่พ้นพงหนาม ข้อมูลเศรษฐกิจ เช่น การนำเข้าของจีนที่ขยายตัวเพียง 0.3% แสดงให้เห็นว่า ภายในของจีนไม่มีกำลังซื้อ ราคาบ้านในจีนยังตกต่อเนื่อง 6-7% ยิ่งสะท้อนว่าจีนกำลังแย่ลง เศรษฐกิจจะโตต้องมีการนำเข้า และราคาบ้านต้องเพิ่มขึ้น และหากจีนยังไม่มีการกำจัดหนี้เสียมหาศาลออกจากระบบ โดยการช่วยเหลือของภาครัฐ โอกาสจะจบความซบเซาทางเศรษฐกิจจะยากขึ้น
นายกอบศักดิ์ยังกล่าวต่อถึงข้อแตกต่างระหว่างอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง หรือนางแฮร์ริสชนะด้วยว่า หากทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดี ผลกระทบคือ ความขัดแย้งและสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่จะรุนแรงขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน โอกาสที่สงครามจริงในพื้นที่ตะวันออกกลาง ในไต้หวันหรือคาบสมุทรเกาหลีมีโอกาสน้อยลง ในทางตรงกันข้ามหากนางแฮร์ริสชนะ การดำเนินนโยบายก็จะต่อเนื่องจากไบเดน ซึ่งสงครามการค้าจะไม่รุนแรงขึ้นก็จริง แต่สงครามจริงจะดำเนินต่อไป ซึ่งน่ากังวล เพราะในวันนี้หากสงครามจริงเกิดขึ้นแล้วจะไม่จบง่ายๆ
“ประเด็นที่กังวลมากที่สุด คือ การเกิดสงคราม จริงที่รุนแรงขึ้นมากกว่า เพราะสงครามจะส่งผลต่อ เส้นทางขนส่ง ต่อต้นทุนการค้า การเงิน ต้นทุนพลังงาน ขณะที่หากเป็นสงครามการค้าที่กีดกันจีนมากขึ้น จะส่งผลด้านลบต่อการส่งออกของไทย แต่ก็ทำให้จีน หรือประเทศอื่นๆที่มีฐานผลิตที่จีนย้ายมาลงทุนไทยมากขึ้นได้เช่นกัน”
สำหรับปัจจัยท้าทายในประเทศ นายกอบศักดิ์ ยังเป็นห่วงปริมาณหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อบ้าน โดยเฉพาะคุณภาพของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่มีสินเชื่อที่ผ่อนไม่ตรงตามกำหนดสูงถึง 16% ขณะที่เราเริ่มเห็นบ้านถูกยึดจำนวนสูงขึ้น ซึ่งทั้งสองอย่างนี้สะท้อนภาพว่าครัวเรือนกำลังมีปัญหา เพราะรถยนต์เป็นเครื่องมือทำมาหากิน ในขณะที่บ้านที่อยู่อาศัยเป็นหนี้ที่คนจะขาดส่งหลังสุด และหากเป็นเช่นนี้ต่อไป โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาโตสูงๆ คงทำได้ยาก เพราะกู้หนี้มาเพิ่มไม่ได้
“รายได้ของคนที่หายไปในช่วงโควิด ทำให้คนก่อหนี้ต่อเนื่อง และก่อหนี้จนเต็มจำนวน เมื่อความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แบงก์ก็ไม่กล้าปล่อยกู้เพิ่ม ในที่สุดก็ต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบ และจากการสอบถามเหตุผลที่จ่ายหนี้ไม่ตรง คำตอบคือ มีหนี้อื่นที่มีการทวงถามรุนแรงกว่าที่ต้องจ่ายก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ไปกู้หนี้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูง ดอกเบี้ยทบต้น ทำให้มูลหนี้สูงขึ้นเร็วมาก และมีการติดตามทวงถามหนี้ด้วยวิธีการต่างๆ โดยกรณีหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและสถานการณ์ของลูกหนี้ขณะนี้ถือว่าน่าเป็นห่วง และคงต้องดูว่ารัฐบาลจะมีแนวทางมาแก้ไขปัญหาอย่างไรต่อไป”
สำหรับสถานการณ์ของธนาคาร นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้เทรนด์ต่างๆของเศรษฐกิจเอื้อในการทำธุรกิจของธนาคารกรุงเทพ เพราะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจต้องการการลงทุนใหม่เพื่อปรับปรุงธุรกิจจำนวนมาก เช่น สินเชื่อเพื่อการปรับปรุงเทคโนโลยี สินเชื่อเพื่อการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงาน สู่การลดการปล่อยคาร์บอน สินเชื่อสีเขียว ซึ่งทั้งหมดนี้เราสามารถสนับสนุนให้เกิดขึ้นได้ และโดยเฉพาะการขยายการลงทุนและการให้สินเชื่อไปยังระดับภูมิภาค ซึ่งไปลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะธนาคารเพอร์มาตา ของอินโดนีเซียในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าเราเลือกถูกทางแล้ว
“ในช่วงต่อจากนี้ เราเห็นโอกาสที่ภูมิภาคเติบโต และรองรับเงินลงทุนจำนวนมาก เศรษฐกิจอินโดนีเซียมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง ส่งผลให้สินเชื่อของเพอร์มาตาขยายตัวสูงถึง 2 หลัก โดยสินเชื่อที่ปล่อยในต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 25% ของสินเชื่อรวมและคาดว่าจะเป็นส่วนที่ทำกำไรให้ธนาคารกรุงเทพได้เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต”
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารที่ทำกำไรสูงที่สุดในไตรมาสที่ 3 และธนาคารจะพยายามรักษาระดับกำไร และการจ่ายเงินปันผลในระดับสูงเอาไว้ ซึ่งหากมองในเบื้องต้น การทำกำไรในปีนี้ได้มากกว่าปีที่ผ่านมา ดังนั้น เงินปันผลก็ไม่ควรน้อยกว่าเดิม โดยตั้งต้นที่ 7 บาทต่อหุ้นเท่ากับปีที่ผ่านมาแน่นอน
เมื่อถามถึงทิศทางดอกเบี้ย นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว แต่ดอกเบี้ยโลกยังอยู่สูง และต้องใช้เวลาลด โดยจะเกิดผลอาจจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในส่วนของไทย หลังจากสหรัฐฯได้ผู้นำใหม่จะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้น ในช่วง 6 เดือน หรือ 1 ปี จากนี้อาจจะเห็นว่าไม่ดีอยู่บ้าง แต่ขอให้อดทนก่อน เชื่อว่าหลังจากนั้นจะดีขึ้นได้อย่างแน่นอน.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่