“เพิ่มรายได้” ช่วยคนไทยพ้นความลำบาก “พิชัย” เปิดกลยุทธ์ดึงการค้า-ลงทุนหนุนเศรษฐกิจเติบโต

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“เพิ่มรายได้” ช่วยคนไทยพ้นความลำบาก “พิชัย” เปิดกลยุทธ์ดึงการค้า-ลงทุนหนุนเศรษฐกิจเติบโต

Date Time: 28 ต.ค. 2567 06:25 น.

Summary

  • “ทีมเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “นายพิชัย นริพทะพันธุ์” รมว.พาณิชย์ ถึงแนวทางดำเนินการของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และสร้างชีวิตที่ดีกว่าของคนไทย รวมถึงแนวทางการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ที่จะสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลไปสู่ความสำเร็จ

Latest

อุตสาหกรรมจ่อขึ้นบัญชีดำโรงงานประวัติเสีย

การเข้ามารับช่วงบริหารประเทศของรัฐบาล “แพทองธารชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ในช่วง  1  เดือนที่ผ่านมา ภายใต้เศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในภาวะเปราะบาง ฟื้นตัวช้า อัตราการขยายตัวของปีนี้โตได้ไม่ถึง 3%

ปัญหาของเศรษฐกิจไทยที่สะสมมากมายมายาวนานต่อเนื่องด้วยผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 และวิกฤติราคาพลังงานในช่วงที่ผ่านมากำลังส่งผลต่อการเติบโตของประเทศ อีกทั้งการลงทุนจากต่างประเทศที่ต่ำมากตลอด 10 ปี คนไทยส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญกับภาวะรายได้ไม่พอกับรายจ่าย หนี้สินพอกพูนขึ้น และกำลังซื้อที่ลดลง ส่งผลต่อเนื่องกระทบรายได้ของภาคการผลิตและการค้าของประเทศ ซ้ำเติมผู้ประกอบการที่มีต้นทุนการผลิตและต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว เพราะขายสินค้าได้ไม่คุ้มทุน ส่งผลให้หลายกิจการขาดทุน และต้องปลดคนงาน

นอกจากนั้น ประเทศไทยยังไม่สามารถพึ่งพารายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวได้อย่างเต็มที่ นายจ้างไม่มีกำลังจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายรัฐบาล กลายเป็นวัฏจักรของความซบเซาต่อเนื่อง

โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลชุดนี้ จึงต้องเร่งดำเนินการสางปมต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยแก้ตั้งแต่ต้นตอของปัญหา ด้วยการหาเงินทุนใหม่เข้าสู่ระบบจากเม็ดเงินลงทุน พร้อมกับมุ่งยกระดับรายได้ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เพิ่มความสามารถการแข่งขันของภาคธุรกิจ เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้ตามศักยภาพและยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศที่มี “รายได้สูง” และคนไทยก้าวพ้น “กับดัก” ความยากจนได้

“ทีมเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “นายพิชัย นริพทะพันธุ์” รมว.พาณิชย์ ถึงแนวทางดำเนินการของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และสร้างชีวิตที่ดีกว่าของคนไทย รวมถึงแนวทางการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ที่จะสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลไปสู่ความสำเร็จ

ดึงทุนนอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นายพิชัย เริ่มต้นฉายภาพเศรษฐกิจไทยว่า “ปัญหาของเศรษฐกิจไทยช่วงที่ผ่านมา คือ การเติบโตต่ำ เฉลี่ยปีละประมาณ 1.9% ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเติบโตได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 5% สืบเนื่องมาจากเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เข้ามาน้อยมาก และกำลังซื้อในประเทศอ่อนแอ คนยังมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย

ดังนั้น รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย จึงคิดหาแนวทางปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ด้วยการดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามามากขึ้น เพิ่มการกระจายเงินเข้าสู่ระบบให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อได้ และขยายตัวไม่ต่ำกว่าปีละ 5% ต่อเนื่องไปอย่างน้อย 5–10 ปี ซึ่งจะทำให้ไทยก้าวขึ้นสู่ประเทศที่มีรายได้สูง

“สิ่งที่ทำมาตั้งแต่แรก และตอนนี้เริ่มเห็นผลแล้ว คือ เมื่อปีที่แล้วมีอุตสาหกรรมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) เข้ามาลงทุนในไทย 150,000 ล้านบาท พอมาต้นปีนี้ก็มีเข้ามาลงทุน Data Center อีก 160,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมของ Google ที่จะเข้ามาลงทุน 36,000 ล้านบาท และยังไม่รวมการลงทุน Data Center จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) อีก 32,000 ล้านบาท รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆจากหลายประเทศที่จะเข้ามาอย่างต่อเนื่องอีก”

สาเหตุที่นานาประเทศเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น เพราะมั่นใจนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และประกาศในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 3 (ACD) เมื่อวันที่ 2-4 ต.ค.67 ที่ผ่านมาว่า ไทยจะเป็นผู้ผลิตอาหารเพื่อความมั่นคง (Food Security) ทำให้ชาติอาหรับ ทั้ง UAE กาตาร์ คูเวต โอมาน ฯลฯ ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ไทยยังมีนโยบาย “เป็นกลาง” และเป็นมิตรกับทุกประเทศ ไม่มีสงคราม มีความมั่นคง ปลอดภัยสูง ซึ่งไม่ใช่ทุกประเทศทำได้เหมือนไทย ทำให้ทั้งอเมริกาและจีนมองว่าเราเป็นมิตรแท้ ส่วนอินเดียก็มองว่าเราเป็นเพื่อน หรือกลุ่มตะวันออกกลาง ก็ต้องการมาลงทุน Data Center เพราะไทยปลอดภัย

“ตอนนี้ไม่ว่าจะไปคุยเวทีใด ไทยเนื้อหอมมาก มีแต่คนเข้ามาสอบถามนโยบายลงทุน และสิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการจากนี้ อย่างในช่วงการประชุมอาเซียน ซัมมิต ที่ลาว หลายประเทศเข้ามาหาผม และนายกฯแพทองธาร ทั้งออสเตรเลีย สิงคโปร์ อินเดีย ฯลฯ บอกว่า ต้องการร่วมมือกับไทยด้านการค้า การลงทุน”

ขณะเดียวกันเอกอัครราชทูตหลายประเทศ ที่ประจำประเทศไทย ก็ได้เข้าพบตน ซึ่งส่วนใหญ่บอกว่า “อยากทำการค้า การลงทุนกับไทยมากขึ้น” อาทิ ท่านทูตสหรัฐฯแจ้งว่า วันที่ 25-27 พ.ย.นี้ สภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (USABC) จะมาไทย และสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศ ส่วนบริษัท Hewlett-Packard บริษัท Western Digital หรือ Seagate ที่ลงทุนในไทยอยู่แล้วก็ต้องการลงทุนเพิ่มเช่นกัน และเร็วๆนี้ “นายเจนเซน หวง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NVIDIA ผู้ผลิตชิปรายใหญ่จะมาไทย มาเดินเยาวราช และพบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯด้วย

เร่งปิดดีล FTA ขยายการค้า-ลงทุน

นายพิชัยยังกล่าวถึงการเพิ่มช่องทางการค้าของไทยด้วยว่า “นอกจากไทยมีนโยบายเปิดรับการลงทุน และเป็นมิตรกับทุกประเทศแล้ว กระทรวงพาณิชย์ยังเร่งรัดเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศใหม่ๆ และเร่งสรุปผลการเจรจาที่ยังคั่งค้างโดยเร็วนั้น ยังช่วยดึงดูดการลงทุน นอกเหนือจากประโยชน์ด้านส่งออก นำเข้า”

โดยการเจรจา FTA ที่ใกล้ปิดดีล เช่น ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) มีสมาชิก 4 ประเทศ คือ ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ ล่าสุด เอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย ปลัดกระทรวงกิจการเศรษฐกิจของสมาพันธรัฐสวิส และผู้แทน EFTA มาพบตน และหารือกันเพื่อเร่งรัดให้เสร็จตามเป้าหมายปี 67

“FTA ไทย-EFTA ประเด็นใหญ่ๆเจรจาจบแล้ว เหลือที่ต้องปรับรายละเอียดอีกเล็กน้อย หากเจรจาสำเร็จในปีนี้ ไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียน ที่ทำ FTA กับ EFTA และทั้ง 2 ฝ่ายตั้งเป้าหมายจะลงนามร่วมกันในช่วงการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ปลายเดือน ม.ค.68 ซึ่งนายกฯแพทองธาร จะเข้าร่วมประชุมด้วย และน่าจะมีโอกาสพบกับผู้นำของทั้ง 4 ประเทศสมาชิก”

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อ FTA ไทย-EFTA สำเร็จจะช่วยผลักดันให้สหภาพยุโรป (EU) ที่กำลังเจรจา FTA กับไทย เร่งรัดการเจรจาให้เร็วขึ้น ซึ่งเดือน พ.ย.67 จะเจรจารอบที่ 4 ส่วนประเทศอื่นๆที่ใกล้จบ เช่น ปากีสถาน ภูฏาน UAE ฯลฯ ขณะที่อินเดีย นายกฯอินเดียได้พบนายกฯแพทองธารในการประชุมอาเซียน ซัมมิต และบอกว่า ต้องการเจรจา FTA ไทย-อินเดีย เพิ่มเติม จากปัจจุบันที่เปิดเสรีสินค้านำร่อง (Early Harvest) ไม่กี่รายการเท่านั้น

ทำให้ภายในรัฐบาลนี้ คาดว่าจะสรุปผลการเจรจาได้อีกหลายฉบับ รวมๆมากกว่า 10 ประเทศ จากปัจจุบันไทยมี FTA 15 ฉบับกับเพียง 18 ประเทศ ซึ่งจะทำให้ไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด เช่นเดียวกับเวียดนามที่ทำ FTA กับมากกว่า 50 ประเทศ ช่วยดึงดูดทั้งการค้า การลงทุน และทำให้เศรษฐกิจขยายตัว

“การเปิดรับการลงทุน เป็นมิตรกับทุกประเทศ และเร่งเจรจา FTA จะทำให้การลงทุนไหลเข้ามากขึ้น โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งอเมริกา ไม่ว่าใครชนะสงครามการค้าประทุอีกแน่ ทำให้การลงทุนจะย้ายจากจีนมาไทย เพราะไม่อยากมีปัญหา Trade War ขนาด Haier ยังลงทุนในไทยมากกว่าจีน ไทยจะกลายเป็นฐานการค้า การลงทุน เพราะผลิตที่ไทยขายได้ทั่วโลก สิ่งที่เราทำอยู่นี้ อีกไม่กี่ปี จะทำให้เราเติบโตก้าวกระโดด”

กระตุ้นเศรษฐกิจภายในไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่อง พร้อมๆกับการดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาแล้ว นายพิชัยกล่าวว่า รัฐบาลยังต้องแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของคนไทยควบคู่กันไปด้วย เพราะปัจจุบัน คนส่วนใหญ่มีรายได้ไม่พอรายจ่าย หนี้ครัวเรือนสูง และมีฐานะต่ำกว่าเส้นความยากจน

“ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำมาก เฉลี่ยปีละ 1.9% คนส่วนใหญ่ยังยากจน ต้องกู้เงินมาใช้จ่ายมีหนี้สินจำนวนมาก รัฐบาลจึงพยายามเพิ่มรายได้ให้คนไทย ทั้งการแจกเงิน 10,000 บาท ที่ได้เริ่มกับกลุ่มเปราะบางก่อน เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อทำให้มีเงินเพียงพอกับรายจ่าย และมีชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนตัวมองว่า การแจกเงินหมื่นบาทในช่วงนี้ถือว่าเหมาะสม ทำให้ประชาชนเอาเงินไปใช้จ่าย และอย่างน้อยทำให้คนรู้สึกมีความหวัง มีกำลังใจ”

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังต่อยอดเงินหมื่น โดยทำโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนกว่า 130 แห่ง ลดราคาสินค้า ลดค่าเช่าแผง และค่าเช่าร้านค้าทั้งประเทศ และหาสถานที่ขายสินค้าให้ด้วย ตั้งแต่เดือน ก.ย.67 ถึงเดือน ม.ค.68 ซึ่งจะช่วยเพิ่มค่าของเงินหมื่นจากการซื้อสินค้าได้ในราคาถูกลง ส่วนประชาชนที่ยังไม่ได้รับเงินหมื่น สามารถซื้อสินค้าราคาประหยัดได้ด้วย คาดว่า จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้กว่า 100,000 ล้านบาท

สำหรับการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุดวันที่ 16 ต.ค. 67 ถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ เพราะทำให้ต้นทุนด้านการเงินลดลง หนี้ครัวเรือนลดลงได้ราว 40,000 ล้านบาท และภาระดอกเบี้ยเงินกู้ของหน่วยงานรัฐลดลงได้ 30,000 ล้านบาท จากหนี้ภาครัฐที่ 1.1 ล้านล้านบาท ทั้งยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพิ่ม เพราะภาระดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง และยังทำให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ไม่ทำให้มีเงินล้นระบบ แต่ไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตเหมือนที่เป็นอยู่

“การลดดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะขณะนี้ เงินเฟ้อไทยต่ำมาก เศรษฐกิจไม่ดี แบงก์ชาติควรส่งเสริมให้เศรษฐกิจเดินหน้า ไม่ใช่คุม ถ้าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโตร้อนแรง ควรขึ้นดอกเบี้ย ดึงเงินออกจากระบบ ประเทศอื่นทำแบบนี้ แต่ไม่ใช่ทำตอนที่เศรษฐกิจแย่เหมือนไทยตอนนี้”

และก่อนถึงสิ้นปีนี้ อยากเห็นดอกเบี้ยลดลงอีกครั้ง รวมเป็นลดลง 0.50% และอยากเห็นแบงก์ชาติ ช่วยทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง เพื่อช่วยผลักดันการส่งออก ซึ่งขณะนี้กระทรวงพาณิชย์มีนโยบาย “Thailand : Next Level” พัฒนาสินค้าไทยสู่สินค้าแห่งอนาคต สินค้านวัตกรรม สินค้ามูลค่าเพิ่มสูง เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศให้มากขึ้น มั่นใจว่าปีนี้การส่งออกขยายตัวได้มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1-2% เมื่อเทียบกับปีก่อนแน่นอน

ภารกิจ “พาณิชย์” หนุนนโยบายรัฐ

สำหรับแนวทางดูแลค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของกระทรวงพาณิชย์ นายพิชัยกล่าวว่า ในส่วนของการเพิ่มรายได้ รัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อเพิ่มกำลังซื้อคนไทย ซึ่งเชื่อว่าการลงทุนสมัยใหม่ อย่างดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะทำให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น และนักลงทุนก็ไม่กังวลเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ เพราะเป็นการลงทุนมูลค่าสูง และจ้างแรงงานมีทักษะที่มีรายได้สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ

อย่างกรณี Google ที่จะมาลงทุน Data Center กว่า 36,000 ล้านบาท จ้างงานคนไทยกว่าหมื่นคน จะทำให้คนไทยมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น และนายทุนก็ไม่น่ากังวลค่าแรงวันละ 300  บาท หรือ 600 บาท และถ้าคนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น ราคาสินค้าขายเท่าไรก็จะไม่บ่นว่าแพง ต่างจากทุกวันนี้ที่รู้สึกว่าของแพง เพราะรายได้ไม่พอจ่าย

อย่างไรก็ตาม ในฐานะ รมว.พาณิชย์ เมื่อคนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น มองว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอีก 2-3% ก็ไม่เป็นไร เพราะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมาจากเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น ทั้งจากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาล การขึ้นค่าแรง การลงทุนทั้งจากในและต่างประเทศ ฯลฯ รัฐบาลจึงจะพยายามขยับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันกำหนดที่ 1-3% เพราะเศรษฐกิจจะเติบโตขึ้น

“เศรษฐกิจที่ดี คือ เศรษฐกิจที่มีเงินเฟ้อแบบอ่อนๆ และเงินเฟ้อที่ดี คือ เงินเฟ้อที่มาจากคนมีรายได้เพิ่ม ไม่ใช่มาจากราคาข้าวของแพง ตอนนี้เงินเฟ้อไทยต่ำไป แค่ 1% รัฐบาลจึงต้องการทำให้เศรษฐกิจดี คนไทยมีรายได้เพิ่มจากการขึ้นค่าแรง ขายพืชผลได้ราคาดี เมื่อคนมีรายได้เพิ่ม ก็จะซื้อของเพิ่มขึ้น การผลิตสินค้าก็เพิ่มขึ้นตาม นายจ้างก็สามารถปรับขึ้นค่าแรงได้ และทำให้เศรษฐกิจขยายตัว”

ทั้งนี้ การทำงานของกระทรวงพาณิชย์ในยุคนี้ ที่เน้น “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” ให้กับทั้งคนไทย และผู้ประกอบการไทย ใน 10 ด้าน จะมีส่วนสำคัญสนับสนุนนโยบายรัฐบาลนายกฯแพทองธารสู่ความสำเร็จ ประกอบด้วย

1.ลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เอสเอ็มอี และสร้างโอกาสทางการค้าใหม่ๆ

2.บริหารความสมดุลระหว่างผู้บริโภค เกษตรกร และผู้ประกอบการ เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียมกัน

3.พาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ ทำงานเชิงรุกเพื่อช่วยขับเคลื่อนสินค้าเกษตร สินค้าเอสเอ็มอีสู่ต่างประเทศ

4.แก้ไขข้อจำกัดของกฎหมาย

5.ขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

6.ผลักดันการส่งออก และเร่งเจรจา FTA

7.ผลักดันการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่มีอยู่

8.พานักธุรกิจไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ

9.ปรับโครงสร้างสินค้าส่งออกให้ทันสมัย

10.ส่งเสริมผู้ประกอบการผลิตสินค้ารักษ์โลก สอดคล้องกับเทรนด์โลก

ขณะที่การแก้ปัญหาสินค้าราคาถูก ไร้มาตรฐานจากต่างประเทศทะลักเข้าไทย และการทำธุรกิจของคนต่างด้าวที่ผิดกฎหมายในไทยนั้น ล่าสุด ได้เสนอให้นายกฯ เห็นชอบแต่งตั้ง “คณะกรรมการบริหารจัดการแก้ปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างชาติที่ฝ่าฝืนกฎหมาย” โดยมีตนเป็นประธาน เพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาแล้ว

“สิ่งที่รัฐบาลทำทั้งหมดนี้ อยากให้ทุกคนเห็นตรงกันว่า ประเทศจะเดินหน้าต่อได้ ต้องทำอย่างไร ไม่ใช่มาเถียงกัน เอาชนะกัน อยากให้สนับสนุนกัน ความสำเร็จของการบริหารประเทศ คือ การช่วยเหลือให้คนลำบากมีชีวิตที่ดีขึ้นได้เท่าไร ไม่ได้อยู่ที่ช่วยให้คนรวย รวยขึ้นเท่าไร รัฐบาลอยากให้คนลำบากมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ถ้าทำให้คนรวย รวยขึ้นได้ด้วยก็จะจ่ายภาษีได้มากขึ้นและรัฐบาลจะมีงบประมาณมาช่วยเหลือคนลำบากให้มีชีวิตดีมากขึ้นได้” นายพิชัย กล่าวทิ้งท้าย.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ