หักทุกปากกาเซียน หลังเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา กนง. มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% โดย 2 เสียงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.50% สวนทางกับจุดยืนยึดมั่นในเสถียรภาพการเงิน คงอัตราดอกเบี้ยเพราะกังวลว่าการลดอัตราดอกเบี้ยอาจกระตุ้นให้คนก่อหนี้เพิ่มในสภาวะที่เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
โดยเหตุผลในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ กนง. มองว่าจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้าง ท่ามกลางการขยายตัวของสินเชื่อที่ชะลอลง โดยไม่ได้ฉุดรั้งกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (Debt deleveraging) พร้อมปรับเพิ่ม GDP ปี 2567 เป็น 2.7% และปรับลด GDP ปี 2568 เหลือ 2.9%
ทั้งนี้ หลังจากผลการประชุมกนง. ออกมา ค่าเงินบาทขยับอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับ 33.27 บาทต่อดอลลาร์ฯ มาอยู่ที่ราว 33.38 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยตอบรับด้วยการปรับขึ้นจากระดับ 1,467 จุดมาอยู่เหนือระดับ 1,480 จุด
อย่างไรก็ตามหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า การที่กนง. เซอร์ไพรส์ตลาด ลดอัตราดอกเบี้ยโดยไม่คาดคิด อาจเป็นการเปิดทางเข้าสู่วัฏจักรลดดอกเบี้ย (Easing Cycle) แต่กนง. ก็ตอบชัดว่ายังยึดมั่นในนโยบายการเงินที่เป็นกลาง ดังนั้นการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของวัฏจักรลดดอกเบี้ยหรือ Easing Cycle แต่เป็นการลดเพื่อรอดูผลจากการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ โดยจับตามองพัฒนาการการก่อหนี้ใหม่
ด้าน SCB EIC ประเมินว่า กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งไปอยู่ที่ 2% ภายในไตรมาส 1/2025 เพื่อผ่อนคลายภาวะการเงินเพิ่มเติม จากภาพเศรษฐกิจและภาวะสินเชื่อชะลอตัวจะยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยความน่ากังวลของสถานการณ์จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า แต่จะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ภาวะการเงินโลกจะเริ่มผ่อนคลายลง ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลัก
สอดคล้องกับ Krungthai COMPASS ประเมินว่ายังคงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปในระยะข้างหน้า สะท้อนจากมุมมองของกนง. ต่อโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ที่คาดว่า GDP จะเติบโต 1.0% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส (เทียบกับ 1.2% ใน 1H67) ตามด้วยแรงส่งที่แผ่วลงต่อเนื่องสู่ 0.6% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ในปี 2568 ปัจจัยหลักจากการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกในปีหน้า ขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่เหลือของปีรวมถึงตัวเลขคาดการณ์ในปี 2568 ที่ 1.2% ยังต่ำกว่าค่ากลางของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยอาจเผชิญความไม่แน่นอนที่จะส่งผลกระทบต่อภาวะทางการเงิน (Financial conditions) จาก 1) การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลักฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะเฟดซึ่งอยู่ในช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง ส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงินโดยเฉพาะค่าเงินบาท ซึ่งอาจกดดันต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ 2) เศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้ากระทบต่อการขยายตัวของสินเชื่อมากกว่าที่กนง. คาด มองไปข้างหน้า ปัจจัยเหล่านี้จะเพิ่มความเสี่ยงด้านต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอาจเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมได้
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney