ขายตรงในคราบ"แชร์ลูกโซ่"โมเดลธุรกิจที่เล่นกับความหวังของคน เปิด 6ข้อสังเกต รู้ไว้!ไม่ตกเป็นเหยื่อ 

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ขายตรงในคราบ"แชร์ลูกโซ่"โมเดลธุรกิจที่เล่นกับความหวังของคน เปิด 6ข้อสังเกต รู้ไว้!ไม่ตกเป็นเหยื่อ 

Date Time: 9 ต.ค. 2567 20:43 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • ส่องโมเดลธุรกิจ ดิไอคอนกรุ๊ป (Thai Icon Group) เบอร์ 1วงการตลาดออนไลน์ ก่อนตกเป็นคดีดัง ลากคนในวงการบันเทิง มาอยู่หน้าสื่อ เมื่อการขายตรง อาจมาในคราบ "แชร์ลูกโซ่" โมเดลธุรกิจที่เล่นกับความหวังของคน เน้นหาดาวน์ไลน์ ไม่เน้นขายของ เปิด 6 ข้อสังเกต รู้ไว้!ไม่ตกเป็นเหยื่อ สูญเงินให้แม่ทีม

Latest


อยู่มาทุกยุคทุกสมัย แต่ก็มีคนตกเป็น “เหยื่อ” อยู่ร่ำไป เรากำลังพูดถึง โมเดลธุรกิจสุดคลาสสิก ระดับตำนาน อย่าง “แชร์ลูกโซ่” ที่อาศัยคำว่า “ธุรกิจขายตรง” บังหน้า ผ่านวิวาทะชวนเคลิ้ม "เชื่อไหม ชีวิตคุณจะเปลี่ยนไป" หรือ “ขยันผิดที่ 10 ปี ก็ไม่มีวันรวย” 

โดยหลังปรากฏข่าวดัง ตำรวจเตรียมทลายเครือข่าย ดิไอคอนกรุ๊ป (Thai Icon Group) ที่มีบอสพอล-วรัตน์พล วรัทย์วรกุล เป็น CEO เจ้าของตำแหน่งเบอร์ 1 ในวงการตลาดออนไลน์ ด้วยยอดขายร่วม 1,000 ล้านบาท ซึ่งมีแบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ที่เป็นที่รู้จักมากมาย เช่น Boom Collagen+ และ Room Coffee 

อีกทั้งยังมีชื่อ พิธีกร ดารานักแสดง อีกหลายราย ติด Top เป็นผู้บริหารระดับสูงของ ดิไอคอนกรุ๊ป ร่วมด้วย เช่น กันต์ กันตถาวร, มิน พีชญา พัฒนามนตรี และ แซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี

ซึ่งขณะนี้มีเพียง ดารารุ่นใหญ่ แซม ยุรนันท์ ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อ โดยยอมรับว่า มีชื่อเป็น 1 ในบอสจริง ทำหน้าที่ดูแลภาพลักษณ์แบรนด์ และพัฒนาสินค้า แต่ยืนยัน ไม่มีเจตนาเอาเปรียบคดโกงใคร พร้อมหาทางช่วยเหลือผู้เดือดร้อนเสียหาย

ดิไอคอนกรุ๊ป ธุรกิจขายตรง คือ ใคร? 

สำหรับ ดิไอคอนกรุ๊ป จดทะเบียนจัดตั้งครั้งแรก เมื่อปี 2561 ในนามผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพและความงาม เจาะงบการเงินย้อนหลังตั้งแต่ปี 2561-2565 สร้างกำไรต่อเนื่อง และมีรายรับรายปี พีกสูงสุด ในช่วงปี 2564 อยู่ที่ 4,950 ล้านบาท สร้างกำไรสุทธิในปีเดียวกัน กว่า 813 ล้านบาท

โดยโมเดลธุรกิจของ ดิไอคอนกรุ๊ป ถูกสื่อสารผ่าน เรื่องราวความสำเร็จของแบรนด์ และชวนผู้ค้าเดินทางไปสู่เป้าหมายพร้อมกัน โดยระบุว่า นี่คือ 1 ในธุรกิจ ที่เข้ามาปฏิวัติวงการการขายของออนไลน์รูปแบบใหม่ของเมืองไทย

ไม่ต้องสต็อกสินค้า!

ไม่ต้องแพ็กของ!

ไม่ต้องออกไปส่งของเอง!

เพราะเครือข่ายของดิไอคอนกรุ๊ป จะจัดการให้ทั้งหมด โดยทุกกระบวนการ สมาชิกใช้มือถือเพียงเครื่องเดียว บริษัทดาวรุ่งมาแรง ยังมีศูนย์กลาง เป็นโรงเรียนสอนธุรกิจออนไลน์ ที่ทุ่มทุนสร้างด้วยเงินลงทุนกว่า 300 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นสถานที่บ่มเพาะ และอบรมตัวแทนจำหน่าย ปั้นนักธุรกิจออนไลน์มืออาชีพ ที่บอกว่า ประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย อีกทั้งพบมีการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น ไลน์ธุรกิจการแพทย์และความงาม ผ่าน The icon Wellness

ดารา-คนดัง คนหน้าสื่อ ปูทางสร้างแบรนด์ธุรกิจ ของ ดิไอคอนกรุ๊ป 

ความโด่งดังมีชื่อเสียงของธุรกิจ ดิไอคอนกรุ๊ป ยังมาจากการปูพรมซื้อสื่อโฆษณาทั่วฟ้าเมืองไทย 300 จุด โปรโมตแบรนด์ ผ่านหน้าคนดัง สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้กับเครือข่ายและคนทั่วไป แล้วทำไมจะไม่น่าเชื่อถือ?

“เครือข่ายสมาชิก โรดโชว์ จัดทริปเที่ยวต่างประเทศ กินหรู อยู่แพง พิสูจน์ความเก่ง ตรงสเปก รางวัลที่คู่ควรของคนที่ประสบความสำเร็จ ที่ชวนให้ตามล่าหาฝัน เมื่ออยากเป็นคนบนยอดพีระมิด”

อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้ คดี ดิไอคอนกรุ๊ป ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัด ว่าทำธุรกิจต้มตุ๋นผิดกฎหมายจริงหรือไม่ หลังจากมีผู้ค้าสมาชิกที่เป็นเครือข่ายหลายราย หรือแม้แต่คนดังในวงการเพลง ก็ออกมายอมรับว่าเคยตกเป็นเหยื่อ สูญเงินเป็นจำนวนมาก

แต่สิ่งที่อยากชวนทำความเข้าใจ และตอบคำถามที่ว่า ทำไม? คนไทยต้องกลัว กับคำว่า “ธุรกิจขายตรง” เพราะบางครั้ง ก็อาจเป็นแชร์ลูกโซ่ดีๆนี่เอง

โดยข้อมูลจากสมาคมการขายตรงไทย - TDSA ระบุว่า ความแตกต่างระหว่างธุรกิจขายตรงกับแชร์ลูกโซ่ มีหลายข้อ แต่หลักๆ "ธุรกิจขายตรงที่ดี" จะสร้างความยั่งยืนให้กับนักขายและลูกค้า แต่ "แชร์ลูกโซ่”กลับมักสร้างความเสียหายให้กับผู้บริโภค ซึ่งใครที่จะตัดสินใจเข้าร่วมต้องศึกษาโมเดลธุรกิจให้ถ่องแท้ เพื่อไม่ให้พลาดตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่

ลักษณะของธุรกิจขายตรง

  • ค่าสมัครเหมาะสมและอาจมีเอกสารหรือสินค้าตัวอย่าง
  • มีการรับประกันสินค้าและรับซื้อคืนเมื่อนักขายตรงต้องการลาออก
  • ไม่มีนโยบายกักตุนสินค้าจำนวนมากๆ
  • แผนการจ่ายผลตอบแทนเป็นไปได้จริง
  • รายได้หลักต้องมาจากการขายสินค้าไม่ใช่การระดมเงินทุน

ลักษณะของแชร์ลูกโซ่

  • ค่าสมัครสูง เป็นการระดมทุน
  • เน้นการกักตุนสินค้า
  • สินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่รับประกันและไม่รับคืนสินค้า
  • รายได้หลักมาจากการระดมทุนหรือใช้เงินซื้อตำแหน่ง
  • เป็นธุรกิจระยะสั้น บริษัทไม่มีความมั่นคง

6 ข้อสังเกตแชร์ลูกโซ่ ในรูปแบบธุรกิจขายตรง

สอดคล้อง ข้อมูลเตือนภัยแชร์ลูกโซ่ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ระบุเกี่ยวกับ 6 ข้อสังเกตแชร์ลูกโซ่ ที่มาในรูปแบบธุรกิจขายตรง ดังนี้

  1. โมเดลแชร์ลูกโซ่ หากโครงสร้างธุรกิจเน้นการรับสมัครคนใหม่เข้าร่วมมากกว่าการขายสินค้าหรือบริการจริง โมเดลนี้ทำให้รายได้หลักมาจากการชักชวนสมาชิกใหม่และเก็บเงินค่าสมัคร แทนที่จะเกิดจากการขายสินค้า
  2. การขายสินค้าหรือบริการที่ไม่ตรงความจริง หากสินค้าหรือบริการที่เสนอขายไม่มีคุณภาพ ไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่โฆษณาไว้ หรือไม่มีสินค้าจริงในการจำหน่าย แต่มีการหลอกลวงเพื่อเก็บเงินจากผู้ร่วมธุรกิจ
  3. การบังคับซื้อสินค้าหรือการลงทุนจำนวนมาก หากบริษัทบังคับให้ผู้สมัครเข้าร่วมต้องลงทุนจำนวนมากในการซื้อสินค้าเกินความจำเป็น หรือกักตุนสินค้าโดยไม่สามารถขายออกได้จริง
  4. การใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือหลอกลวง หากบริษัทนำเสนอข้อมูลทางธุรกิจหรือรายได้ที่เกินจริง โฆษณาผลตอบแทนที่สูงเกินจริงโดยไม่สามารถทำได้ตามสัญญา
  5. การไม่มีใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจขายตรงในประเทศไทยต้องได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
  6. ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค หากธุรกิจไม่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้บริโภค ไม่สามารถคืนเงินหรือเปลี่ยนสินค้าตามที่กฎหมายกำหนด หรือไม่มีการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้บริโภค ก็อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ บทลงโทษของการชักชวนคนมาลงทุน แล้วไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนตามที่กล่าวอ้าง ถือว่าเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับ 50,000-1,000,000 บาท และมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ