ภาคเอกชนหดหู่สิ้นหวัง 5 มาตรการหลัก 63 มาตรการย่อย แก้ปัญหาสินค้าราคาถูก ไร้มาตรฐานทะลักเข้าไทยของ 28 หน่วยงานที่ส่อล้ม หลังได้รัฐบาลใหม่มากว่า 1 เดือน แต่ยังไม่ประชุมติดตามความคืบหน้า ขณะที่ศูนย์เฉพาะกิจป้องกันฯ ยังไม่ได้ตั้ง ปล่อยไทยขาดดุลการค้าจีนต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ภาคเอกชนกำลังติดตามความคืบหน้าแผนแก้ปัญหาการนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐานและราคาถูกจากจีน และต่างประเทศของรัฐบาล หลังจากเมื่อเดือน ส.ค. นายภูมิธรรม เวชยชัย รมว.กลาโหม ซึ่งขณะนั้นเป็น รมว.พาณิชย์ ได้ประชุม 28 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหา นำมาซึ่งการออก 5 มาตรการหลัก และ 63 มาตรการย่อยแก้ไขปัญหา พร้อมสั่งให้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามสินค้าและธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมาย โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน
นอกจากนี้ ยังมอบให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด เช่น กรมศุลกากรให้เพิ่มความถี่ในการเปิดตรวจการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ตั้งแต่พืชผักผลไม้จนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้มงวดตรวจสอบอาหาร ยา อาหารเสริมต่างๆที่นำเข้า เช่นสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เข้มงวดตรวจสอบสินค้านำเข้า ฯลฯ พร้อมกับกำชับให้ทั้ง 28 หน่วยงานแจ้งผลดำเนินงานกลับมาให้กระทรวงพาณิชย์ทราบทุกสัปดาห์ และนัดประชุมร่วมกันทุก 2 สัปดาห์ เพื่อดูแลสินค้าที่จำหน่ายในไทยให้มีคุณภาพ ถูกกฎหมาย ไม่สร้างความเสียหายให้กับประเทศ และเป็นไปตามหลักสากล
หลังจากการปรับเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี และปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ ภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและมีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ เป็น รมว.พาณิชย์ มากว่า 1 เดือนแล้ว การแก้ปัญหายังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจฯที่ยังไม่ได้จัดตั้ง หรือการให้ 28 หน่วยงานรายงานผลดำเนินการมายังกระทรวงพาณิชย์ ก็มีทั้งรายงานบ้าง ไม่รายงานบ้าง
แม้เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นายพิชัยได้หารือนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งจีนรับจะแก้ปัญหาขาดดุลการค้าของไทย โดยจะนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่ม เช่น ทุเรียน และพร้อมให้ไทยเพิ่มความเข้มงวด ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า รวมถึงสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยเข้าไปเปิดตลาดในจีน และสนับสนุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่ม พร้อมให้ Temu จดทะเบียนจัดตั้งในไทย และปฏิบัติตามกฎหมายไทย แต่ผลของการดำเนินการทั้งหมดคงไม่เกิดขึ้นในทันที ทำให้ภาคเอกชนคาดว่าการแก้ปัญหาอย่างจริงจังเช่นเดียวกับที่หลายประเทศดำเนินการ อาจต้องล้มเลิกไป
สำหรับ 5 มาตรการหลักในการแก้ปัญหานี้ มีอาทิ 1.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้ระเบียบกฎหมายอย่างเข้มข้น โดยบูรณาการตรวจเข้มสินค้า 2.ปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้าในอนาคต 3.มาตรการภาษี กำหนดให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร
ขณะที่สถิติการค้าไทย-จีน ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการค้ารวม 104,964 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 3.64 ล้านล้านบาท โดยไทยขาดดุลจีน 36,635 ล้านเหรียญ หรือ 1.29 ล้านล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีมูลค่าสูงมาก ส่วนสินค้าส่งออกไปจีน ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ที่มีมูลค่าต่ำกว่ามาก.