ร้านอาหารโปรด - ร้านประจำ จู่ๆ ก็เลิกขาย ,ย้ายร้าน ,เจ๊ง ,ปิดกิจการ ! หรือเคยรู้สึกใจหายไหม ร้านที่ไม่เคยอุดหนุน แต่เดินผ่านทุกวัน แต่วันนี้กลับหายไป
นี่อาจไม่ใช่แค่ความผูกพัน แต่คือ สภาวะ สะท้อนความยากลำบากในการทำธุรกิจร้านอาหาร ที่หน่วยงาน หรือ สถาบันที่เกี่ยวข้องต่างๆ มักระบุตรงว่า ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัย “ร้านอาหาร” ก็ยังเป็นธุรกิจดาวรุ่ง ทั้งในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น หรือ ขาลงก็ตาม ก็เพราะอาหาร เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต
แต่ความจริง ปัจจุบัน ภาพรวมยังเป็นเช่นนั้น จริงหรือไม่ ?
เจาะภาพรวมธุรกิจ กรมส่งเสริมธุรกิจการค้า เพิ่งออกรายงานฉบับล่าสุดว่า ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร ยังติด TOP 3 กลุ่มกิจการ ที่มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่ สะสม 8 เดือนแรก ของปี 2567 อยู่ที่ 2,838 ราย ทุนจดทะเบียนกว่า 5,810 ล้านบาท
พร้อมให้ข้อมูลวิเคราะห์เชิงลึกว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา “ธุรกิจร้านอาหาร” ที่เรากำลังกล่าวถึง มีแนวโน้มการเติบโตแบบก้าวกระโดดหลังโควิด-19 จบลง
โดยปี 2566 มีการจัดตั้งธุรกิจมากถึง 4,017 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 996 ราย ส่วน 8 เดือน ที่ผ่านมาของปีนี้ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ ปัจจุบัน นิติบุคคลที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 44,508 ราย มูลค่าทุนกว่า 220,916 ล้านบาท
โดยส่วนใหญ่แล้วจดทะเบียนในรูปแบบบริษัทจำกัด รองลงมา คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด และห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลและบริษัทมหาชน จำกัด ซึ่งส่วนใหญ่ มีที่ตั้งอยู่ในกทม. มากที่สุด กระจุกตัว ในเขตวัฒนา บางรัก และคลองเตย รองลงมา ภาคใต้ (ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และกระบี่) และภาคตะวันออก (ชลบุรี ระยอง และตราด)
เช่นเดียวกับ การเข้ามาลงทุนใหม่ๆของ ต่างชาติในธุรกิจอาหารบ้านเรา ซึ่งมีตัวเลขมูลค่าการลงทุน อยู่ที่ 29,071 ล้านบาท 5 อันดับแรก ได้แก่
“ 3 ปีที่ผ่านมาธุรกิจร้านอาหารสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 63,000 ล้านบาท “
“ ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารสามารถทำกำไรดีขึ้น (หรือขาดทุนลดลง) โดยเฉพาะในปี 2566 ร้านอาหารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีกำไรสูงถึง 10,369.91 ล้านบาท คิดเป็น 106.90% ของกำไรปี 2566”
อย่างไรก็ดี ข้อมูลวิเคราะห์อีกด้าน ของวิจัยกรุงศรี พบว่า ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร ในประเทศไทย อยู่บนความท้าทาย หลายปัจจัย
ซึ่งนอกจาก ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ครัวเรือนประสบปัญหา หนี้สิน กินเที่ยวลดลง ระมัดระวังในการใช้จ่าย อีกทั้ง ยังเผชิญกับความผันผวนด้านต้นทุนของวัตถุดิบ ค่าไฟ และค่าก๊าซหุงต้ม
ธุรกิจร้านอาหาร ยังนับเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงขึ้น จากจำนวนร้านอาหารที่เพิ่มขึ้น ตามการเปิดสาขาใหม่ของศูนย์การค้าและสถานที่อื่นๆ เช่น สถานีน้ำมัน รวมทั้งการเข้ามาของผู้ประกอบการต่างชาติที่มีความได้เปรียบทั้งด้านเงินทุน เครือข่ายธุรกิจ และความสามารถด้านภาษาที่หลากหลาย ทำให้สามารถปรับแผนธุรกิจตามเทรนด์ด้านอาหารที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กดดันความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ SMEs
โดยข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า จำนวนผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหารของไทยประมาณ 40% มีอายุการดำเนินงานเพียง 0-3 ปี เท่านั้น
ที่มา : กรมส่งเสริมธุรกิจการค้า ,สสว. , วิจัยกรุงศรี
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney