จบไปแล้ว! สำหรับ “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2567” ผ่านกลุ่มเปราะบาง ประกอบด้วย ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ เฟสที่ 1 จำนวน 14.55 ล้านคน แบ่งเป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 12.4 ล้านคน และผู้พิการ 2.15 ล้านคน โดยใช้เงินงบประมาณในเฟสแรกนี้ไปประมาณ 1.45 แสนล้านบาท
หลังจากการโอนเงินให้กับประชาชน เราได้เห็นภาพของคนกลุ่มเปราะบางออกมาเบิกเงินสดจากตู้เอทีเอ็มจำนวนมาก เพื่อที่จะนำเงินที่ได้ไปใช้จ่าย โดยส่วนใหญ่แสดงความดีใจ เพราะเงิน 10,000 บาทถือเป็นเงินก้อนใหญ่สำหรับคนกลุ่มนี้ และที่สำคัญไม่ได้มีการจำกัดพื้นที่การใช้จ่าย หรือควบคุมสินค้าและบริการต้องห้าม
และจากการสำรวจความต้องการในการใช้จ่าย “เงินหมื่น” ของกลุ่มเปราะบาง ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า คนส่วนใหญ่ประมาณ 67% จะไม่ได้ใช้เงินหมื่นหมดในครั้งเดียว แต่จะแบ่งใช้หลายๆครั้ง โดยคาดว่าจะใช้หมดภายใน 3 เดือน ขณะที่มีอีกส่วนหนึ่งประมาณ 20% ที่จะซื้อของใหญ่ หรือใช้หมดภายในครั้งเดียว
ขณะที่ผลสำรวจสินค้าที่คาดว่าจะนำเงินหมื่นไปซื้อมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ทองคำ อัญมณี รองลงมา เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือสื่อสาร สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าวัตถุดิบเพื่อการเกษตรและการค้า นอกจากนั้น จากการสำรวจคนใกล้ตัวที่ได้รับเงินหมื่น บอกว่า จะนำเงินไปใช้หนี้นอกระบบและในระบบ รวมทั้งอยากนำเงินไปใช้สันทนาการ เช่น การทานข้าวในร้านอาหาร ดูภาพยนตร์ ท่องเที่ยว รวมทั้งใช้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเสี่ยงโชค
เมื่อมี “เงินใหม่” เข้าสู่ระบบที่แห้งแล้ง เชื่อได้ว่าช่วง 1-2 เดือนจากนี้ การใช้จ่ายของประชาชนจะเร่งตัวขึ้น ตามการใช้จ่ายเงินในรอบแรกของกลุ่มที่ได้รับเงินหมื่น แต่จะเห็นพลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากหรือน้อยแค่ไหน รัฐบาลจะต้องวิเคราะห์จากพฤติกรรมและการใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้ เพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการแจกเงินเฟสที่ 2
เพราะหากวิเคราะห์จากคำตอบที่ได้รับจากการสำรวจ คนส่วนใหญ่ยังกังวลภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในช่วงก่อนหน้า ทำให้เลือกที่จะเก็บเงินสดไว้จำนวนหนึ่ง ไม่ได้ใช้จ่ายทั้งหมดในครั้งเดียว ขณะที่หากพิจารณาจากสินค้าที่อยากซื้อ จะมีเงินส่วนหนึ่งใช้ซื้อสินค้าคงทน และสินค้าฟุ่มเฟือย เหลืออีกส่วนที่ใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค ซึ่งจุดนี้อาจทำให้พลังของการหมุนเงินในรอบที่สอง และสาม อาจจะไม่ทรงพลังดัง “พายุหมุน”
และเมื่อพลังของการกระตุ้นเปลี่ยน เพื่อให้เกิดผลสำเร็จที่ชัดเจน รัฐบาลเองก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนแผน ปรับแนวคิดการกระตุ้นให้สอดคล้องกันด้วย
เช่น จากเดิมที่หวังการกระตุ้นแบบโครมเดียวฟื้น อาจจะต้องปรับเปลี่ยนเป็นการส่ง “พลังคลื่นของการใช้จ่าย” ที่ต่อเนื่องผ่านโครงการต่างๆ ทั้งการแจกเงินสด เฟส 2 ไทยเที่ยวไทย และโครงการกระตุ้นอื่นๆ เพื่อสร้างให้มีเม็ดเงินใหม่ไหลเข้าระบบกระตุ้นการใช้จ่ายเป็นระลอกๆอย่างต่อเนื่องพร้อมๆกัน ก็ต้องไม่ลืมการเร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในรอบนี้ยั่งยืน.
มิสเตอร์พี
คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม