ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการสัประยุทธ์ระหว่างมหาอำนาจโลก 2 ค่าย สหรัฐอเมริกา และจีนได้กลายเป็นประเด็นที่สร้างผลกระทบไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดประชุมประจำปี 2567 เรื่อง “พลิกความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ สร้างโอกาสประเทศไทย (Geopolitical Uncertainty : Navigating the Future)” เพื่อให้คนไทยตระหนักและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่ผันผวนรวดเร็วซึ่งเป็นผลมาจากภูมิรัฐศาสตร์โลก รวมทั้งจะนำผลที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ไปจัดทำแผนพัฒนาประเทศ รวมทั้งจัดทำนโยบายต่างๆ เพื่อให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ที่นับวันมีความซับซ้อนมากขึ้น
“ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” จึงขอประมวลประเด็นสำคัญๆ เพื่อช่วยฉายภาพให้ท่านผู้อ่านได้เห็นปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้น ตลอดจนข้อเสนอแนะแนวทางการวางตำแหน่งของประเทศไทย เพื่อสามารถอยู่เคียงคู่กับผู้ชนะในเวทีโลกแห่งนี้ให้ได้
เลขาฯ สศช.ได้เปิดภาพรวมของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและนำเสนอการเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลกด้านต่างๆ 8 ด้านที่มีผลต่อประเทศไทย ประกอบด้วย 1.สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยสหรัฐฯได้ออกมาตรการกีดกันทางการค้าโดยใช้เทคนิคและวิทยาศาสตร์ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ขณะที่จีนได้ดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจตอบโต้ โดยเพิ่มบทบาทการค้าและการผลิตโลก รวมถึงนโยบาย Belt and Road Initiatives
2.สหรัฐฯมีมาตรการที่เฉพาะเจาะจงไปยังอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอื่นๆ ส่งผลให้สงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศ ก้าวไปสู่สงครามเทคโนโลยี
3.การปรับเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตโลกมีความเข้มข้นมากขึ้น ประเทศต่างๆมุ่งย้ายฐานการผลิตกลับไปยังประเทศแม่ของบริษัท หรือประเทศที่เป็นพันธมิตร เงินลงทุนจากประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปลดลงอย่างมาก แต่เงินลงทุนจากจีนและประเทศกลุ่ม BRICS อื่นๆปรับเพิ่มขึ้น บางกลุ่มประเทศที่ยังคงมีมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้น อาทิ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และเวียดนาม แต่ไทยเป็นประเทศที่ FDI ลดลง
4.การแย่งชิงแรงงานที่มีทักษะสูง 5.วิกฤติผู้อพยพจากความไม่สงบในประเทศเมียนมา 6.ความมั่นคงทางอาหาร สงคราม และความขัดแย้งทางการเมืองในพื้นที่ต่างๆทั่วโลก ส่งผลให้อาจมีการใช้อาหารเป็นเครื่องมือต่อรองอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ
7.ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้านพลังงาน วางกลยุทธ์ในการหาแหล่งทรัพยากรพลังงานใหม่ๆ 8.การบริหารจัดการพลังงานน้ำอาจกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนและประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บทสรุปและข้อเสนอแนะนำของ ดร.ศุภวุฒิ น่าสนใจตรงที่ระบุว่า “ทั้งจีนและสหรัฐฯมีจุดอ่อนจุดแข็งที่ทำให้ประเมินได้ยากมากว่าใครจะเป็นผู้ชนะ ที่ต้องพูดอย่างนี้เพราะในที่สุดแล้วเราก็อยากอยู่ข้างผู้ชนะ ในตอนนี้ยังประเมินไม่ออก
จีนก็มีปัญหาในภาคธุรกิจ มีประชากรที่แก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว สหรัฐฯก็เป็นมหาอำนาจที่ใช้จ่ายเกินตัว แม้เทคโนโลยีจะดีมาก แต่ก็มีจุดอ่อนอยู่เหมือนกัน เลยทำให้ต้องประเมินให้ดี และประเทศไทยต้องมีจุดยืนที่เหมาะสมที่สุด ต้องยอมรับว่าอาจจะต้องเหยียบเรือสองแคมจริงๆ ว่าแล้วจะทำอย่างไรให้เราอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบที่สุด ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร”
โดยก่อนจะถึงข้อสรุปข้างต้น ดร.ศุภวุฒิ วิเคราะห์ให้เห็นก่อนว่า สถานะของสหรัฐฯกับจีน มี 2 ประเทศนี้ที่เป็นปรปักษ์ซึ่งกันและกัน สหรัฐฯมีศักยภาพทางการทหาร มีฐานทัพต่างๆรวมทั้งหมด 56 ประเทศ ส่วนจีนมีอยู่ประเทศเดียวคือ ที่เกาหลีเหนือ แต่ในอีกด้านหนึ่งจีนคุมการค้าได้เกือบทั้งโลก เพราะมี 128 ประเทศที่ค้ากับจีนมากกว่าอเมริกา และจีนมีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจได้ทำ Belt and Road ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้ลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานใน 140 ประเทศใช้เงินไป 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ภายในประเทศจีนมีปัญหาฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่รัฐบาลไม่อุ้ม โดยมุ่งไปพลิกฟื้นเศรษฐกิจจีนโดยการผลิตสินค้าที่พัฒนาไปสู่ประเทศที่เทคโนโลยีสูง ซึ่งจะทำให้จีนมีเทคโนโลยีทั้งด้านเศรษฐกิจและการทหารเทียบเท่ากับอเมริกา ในระยะสั้นจะทำให้เศรษฐกิจจีนฟื้นไม่ได้ พอข้างในไม่ฟื้น ก็จะเห็นปัญหาว่าบริษัทจีนก็ยังพยายามผลิตพยายามขายแต่ขายแล้วขาดทุน ในปีนี้บริษัทใน ตลาดหลักทรัพย์ 24% ขาดทุน ฉะนั้น การแข่งขันในประเทศจีนรุนแรงมากจึงออกมาขายในต่างประเทศ
ส่วนสหรัฐฯมีปัญหาหนี้สาธารณะสูงมากและขาดดุลงบประมาณ และจะขาดดุลเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ดีไม่ดีอีกแค่ 10 ปีข้างหน้า หนี้สาธารณะจะเพิ่มจาก 28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 50 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 100% ของจีดีพี อาจทำให้ในระยะยาวดอกเบี้ยของสหรัฐฯจะอยู่ที่ 3 ถึง 4% ไม่ได้ กลัวว่าจะไปอยู่ที่ 5% และนักประวัติศาสตร์เคยยกตัวอย่าง มหาอำนาจจะเริ่มตกต่ำ เมื่อขาดดุลงบประมาณ เป็นหนี้สาธารณะมากเกินไป จนกระทั่งเวลาที่จะจัดสรรงบประมาณ จะต้องจ่ายดอกเบี้ยจากหนี้สาธารณะที่เยอะคิดเป็นสัดส่วนสูงกว่างบกลาโหม ซึ่งสหรัฐฯถึงจุดนั้นพอดีในปีนี้ ก็มีปัญหาจะอุ้มระบบทหารที่มีอยู่ในหลายประเทศไม่ได้
ดร.เบญจรงค์ นำเสนอแนวทางบริหารการส่งออก ภายใต้ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ปัจจุบัน สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำ คือ การดึงการลงทุนเพื่อการผลิตที่สอดคล้องความต้องการของตลาด ที่นักลงทุนจากยุโรปกำลังมองหาสินค้าทดแทนการนำเข้าสินค้าจากจีน รวมทั้งมองไปยังตลาดที่เติบโตสูง ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ซีแอลเอ็มวี
รวมทั้งให้ความสำคัญกับตลาดสินค้าฮาลาลที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ให้มากขึ้น ปัจจุบันสินค้าที่ส่งไปตลาดมุสลิม อันดับ 1 มาจากจีน และอันดับ 2-7 มาจากประเทศทางยุโรปทั้งหมด นอกจากนี้ ต้องวางตำแหน่งประเทศไทยในการสร้างตลาดให้กับประเทศที่วางตัวเองเป็นโลกที่ 3 ที่ไม่อยู่ตรงกลางระหว่างความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นประเทศกลุ่ม BRICS อินเดีย บราซิล แอฟริกาใต้
นอกจากนั้น จุดขายของประเทศไทยต้องชัด ต้องหาทางลดต้นทุนที่สูงขึ้นจากภูมิรัฐศาสตร์ให้ได้ดีกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานสิ่งแวดล้อม การนำระบบออโตเมชันมาใช้ การมุ่งเน้นการใช้พลังงานทางเลือก เพื่อตอบสนองนักลงทุนต่างประเทศ ต่างชาติต้องการให้ไทยทำเอฟทีเอมากขึ้น ต้องการการปรับปรุงกฎระเบียบในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น รวมทั้งให้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยังขาดแคลน ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด การพัฒนาสมาร์ทกริด การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน และการพัฒนาการขนส่งเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศ CLMV รวมไปถึงเรื่องดิจิทัลและอินโนเวชัน เฮลท์แอนด์เวลเนส เหล่านี้ประเทศไทยสามารถต่อยอดการสร้างโอกาสด้านภูมิรัฐศาสตร์ได้ ผู้ประกอบการไทยต้องวางแผนและใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงให้มากขึ้น เพื่อปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน
“สิ่งสำคัญที่ต้องบอกนักลงทุนต่างชาติให้ชัดคือ แม้นักลงทุนต่างชาติมองในเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมือง กังวลเรื่องนโยบายของไทยจะไม่แน่นอนไปด้วย แต่นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยไม่เคยเปลี่ยน”
หากจะสรุปจริงๆภายใต้ภูมิรัฐศาสตร์โอกาสของเมืองไทยมีมาก แต่ไม่ได้มาฟรีๆเราต้องปรับเปลี่ยนจุดยืนของเรา ทั้งการบริหารจัดการและจุดขายของไทยเพื่อให้สามารถสร้างโอกาส ภายใต้ภูมิรัฐศาสตร์และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันนี้
ดร.ดุลยภาค ได้นำเสนอ 5 โมเดล ของตำแหน่งแห่งที่ของประเทศไทย หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะอยู่ที่จุดไหนในความผันผวนนี้ ประกอบด้วย โมเดลที่ 1 ถ้าสหรัฐฯชนะจีน ก็หมายความว่าหลายประเทศก็ต้องปฏิบัติตามบรรทัดฐานกฎกติกาและระเบียบอำนาจที่สหรัฐอเมริกาวางไว้ อาจจะต้องพินิจถึงการเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนหรือพันธมิตรทางการทหาร และแนวคิดยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก แต่ถ้าจีนเป็นฝ่ายชนะก็ต้องคุยถึงการรองรับนักท่องเที่ยวจีนที่มากขึ้น การปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อรองรับทุนทางเศรษฐกิจและทุนทางวัฒนธรรมของจีน
โมเดลที่ 2 อาเซียนถูกผ่าออกเป็น 2 ค่าย คือ ค่ายที่นำโดยจีน เช่น ลาว กัมพูชา และค่ายที่นำโดยสหรัฐฯ เช่น สิงคโปร์ แล้วปฏิสัมพันธ์ของอาเซียนทั้ง 2 กลุ่มก็จะมีทั้งความร่วมมือ แข่งขัน ขัดแย้ง ปนเปกันไป น่าท้าทายมาก หากสุดท้ายถ้าต้องเลือกข้าง ประเทศไทยจะอยู่ข้างใด แต่ ณ วันนี้ยังไม่มีการบีบคั้นทางยุทธศาสตร์อย่างรุนแรง ที่ทำให้ไทยต้องเลือกข้าง
โมเดลที่ 3 ทฤษฎีการถ่วงดุลอำนาจอย่างคลาสสิก เช่น เมื่อรัฐ A มีอำนาจ ขยายแสนยานุภาพทางเศรษฐกิจและการทหาร เป็นธรรมดา ที่รัฐ B ซึ่งเป็นรัฐเพื่อนบ้าน จะต้องเพิ่มกำลังอำนาจ เพื่อถ่วงดุลกับ รัฐ A แต่ถ้าทำคนเดียวไม่ไหวต้องหาระบบพันธมิตร เกาะกลุ่มกับ รัฐ C หรือรัฐอื่นๆเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง
โมเดลที่ 4 การที่อาเซียนรวมตัวกันสร้างอำนาจต่อรอง เป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมด้านความมั่นคงในยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก มีท่าทีนโยบายต่างประเทศร่วมบางประการ มีการซ้อมรบ รวมทั้งการทหารที่เป็นระบบระเบียบมีเอกภาพมากขึ้น และมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ตลาดขนาดยักษ์เกิน 600 ล้านคน ในระดับที่ลึกซึ้งขึ้น อาเซียนจะกลายเป็นขั้วอำนาจหนึ่ง เทียบชั้นกับมหาอำนาจอื่นๆได้
โมเดลที่ 5 ประเทศไทยหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่สมัครสมานสามัคคีกัน มีการแข่งขันแย่งชิงอำนาจ และมหาอำนาจที่อยู่ภายนอกสำแดงอำนาจ คือ จีน สหรัฐฯ แม้กระทั่งออสเตรเลีย อินเดีย หรือญี่ปุ่น โบกสะบัดวงแหวนแห่งอำนาจ เป็นชั้นๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นแค่เขตอิทธิพลของมหาอำนาจที่รองรับการประลองกำลัง
ดร.ดุลยภาค จึงเสนอ 3 นโยบายที่จะเป็นประโยชน์กับไทย ได้แก่ 1.นโยบายเป็นกลางแบบยืดหยุ่น หรือเป็นกลางเชิงสร้างสรรค์ 2.นโยบายเสริมสร้างแกนนอก หรือการขยายอำนาจของไทยโดยมีการต่างประเทศเชิงรุกโดยสามารถสร้างเขตอิทธิพลในบางพื้นที่ให้เป็นพื้นที่แห่งผลประโยชน์ของไทย จะทำให้ไทยเป็นมหาอำนาจระดับกลางในลักษณะที่มีชั้นเชิงมากขึ้น 3.นโยบายดันไทยเป็นศูนย์กลางพื้นทวีปและพื้นสมุทรในอาเซียน
ดร.วิษณุ ได้เจาะลงใน 2 ประเด็น คือ เรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารและทางด้านพลังงาน โดยนำเสนอว่า การพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายเกษตรของไทย ปัจจุบันการให้เงินช่วยเหลือเยียวยาให้เปล่า ไม่กระตุ้นให้เกษตรกรปรับปรุงกระบวนการผลิต จึงต้องให้เงินแบบมีเงื่อนไข ควบคู่กับการให้ความรู้ และมีหลักประกันความเสี่ยง
ข้อเสนอที่ 2 คือการเพิ่มจำนวนที่ปรึกษาทางการเกษตรสำหรับเกษตรกร ด้วยการยกระดับความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่พร้อมกับงบประมาณสนับสนุน รวมทั้งจัดตั้งหน่วยงานทำหน้าที่บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆในระบบอาหาร เพื่อขับเคลื่อนนโยบายจากส่วนกลางสู่พื้นที่ และประเมินผลกระทบจากความเสี่ยงในอนาคต พร้อมนำเสนอแนวทางรับมือ และควรเพิ่มบุคลากร บริษัทของไทยในกระบวนการตรวจวัด รายงาน และทดสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรและอาหาร ควรเพิ่มมาตรการแรงจูงใจเพื่อยกระดับมูลค่าตลาดของสินค้าเกษตรและอาหารคาร์บอนต่ำ ตลอดจนลดการพึ่งพานำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารจากประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะจีน
สำหรับข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับความมั่นคงทางด้านพลังงาน ควรคำนึงถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศความต้องการใช้ไฟฟ้าและพลังงานในอนาคต ควรเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมผลักดันกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุน และควรสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับพลังงานหมุนเวียน
นอกจากนี้ ควรกระจายตลาดนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยเฉพาะน้ำมันดิบ ให้มากกว่าในปัจจุบันที่พึ่งพาบางประเทศในสัดส่วนที่สูง และควรผลักดันการลงทุนในเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) โดยในระยะสั้น ควรมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบ และในระยะกลางระยะยาวต้องพัฒนากฎหมายพร้อมกำหนดนโยบายและแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนที่ชัดเจน
ดร.วิษณุ สรุปอย่างเฉียบคมว่า “ยิ่งลงทุนปรับตัวเร็ว ยิ่งคุ้มค่า ยิ่งลงทุนปรับตัวช้า ยิ่งเสียหายหนัก ทุกๆวินาทีมีค่าเสมอ”.
ทีมเศรษฐกิจ
คลิกอ่าน “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม