เมื่อวันที่ 21–23 ก.ย.2567 บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง นำโดยนายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รฟฟท. และคณะผู้บริหาร ได้นำสื่อมวลชนไทยเดินทางไปยังประเทศเวียดนาม โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง รฟฟท. และบริษัท Ho Chi Minh City Urban Railways No.1 หรือ HURC1 (โฮจิมินห์ เมโทร) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการระบบรถไฟฟ้าของนครโฮจิมินห์
ภายในพิธีเป็นการลงนามร่วมกันระหว่าง นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รฟฟท. และนาย Le Minh Triet ประธานคณะกรรมการ และกรรมการ HO CHI MINH CITY URBAN RAILWAYS NO.1 COMPANY LIMITED เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และทักษะต่างๆ รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเดินรถไฟฟ้า ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาระบบขนส่งทางรางอย่างยั่งยืน
ส่งต่อองค์ความรู้รถไฟฟ้าไทยสู่เวียดนาม
นายสุเทพเล่าให้ฟังว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่ทั้ง 2 หน่วยงานได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงแลกเปลี่ยนแนวคิดในด้านการเดินรถไฟฟ้า การสื่อสาร การตลาด รวมทั้งการทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ และเรียนรู้ความต้องการของผู้ใช้บริการ
“ในช่วงที่ผ่านมา HURC1 ได้เดินทางมาดูงานการบริหารจัดการ และเดินรถของ รฟฟท.ที่ประเทศไทย เป็นที่มาของการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ซึ่งทางเรามีความยินดีที่จะช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ การดำเนินงานในด้านต่างๆ จากประสบการณ์มากกว่า 14 ปี ในฐานะผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า โดยเริ่มจากโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารท่าอากาศยานกรุงเทพมหานคร หรือรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ จนมาถึงการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และที่สำคัญ คือ ไม่ใช่ว่าเขาจะเรียนรู้จากเราอย่างเดียว แต่เราก็จะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ หรือปัญหาอุปสรรคที่เขาเจอ ทำให้เราเองก็พัฒนาขึ้นด้วย”
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน HURC1 ยังอยู่ระหว่างการทดลองเดินรถไฟฟ้า ยังไม่เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งทางเราหวังว่าการลงนามครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ในการเดินรถไฟฟ้าในเวียดนาม และมีความพร้อมที่จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในอนาคตต่อไป โดยหลังจากการลงนามครั้งนี้ ทาง HURC1 จะส่งบุคลากรเข้ามาเรียนรู้ และฝึกงานกับ รฟฟท.ไทย ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบขนส่งรางทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม
ชาวโฮจิมินห์รอลุ้นเปิดรถไฟฟ้าสายแรก
สำหรับข้อมูลของ HURC1 นั้น ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 เพื่อดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศเวียดนาม ณ นครโฮจิมินห์ ระยะทางรวม 19.7 กิโลเมตร เส้นทางผ่าใจกลางเมืองโฮจิมินห์ โดยมีสถานีทั้งหมด 14 สถานี เริ่มจากสถานี BEN THANH หรือ ตลาดเบนถั๋น ที่นักท่องเที่ยวไทยรู้จักดี ไปจนถึงสถานี SOUI TIEN TERMINAL โดยเป็นสถานีที่อยู่บนดิน 11 สถานี และเป็นสถานีที่อยู่ใต้ดิน 3 สถานี ใช้เวลาเดินรถ 29 นาที
ทั้งนี้ หลังจากการรอคอยรถไฟฟ้าสายแรกมาอย่างยาวนาน นาย Le Minh Triet ประธานคณะกรรมการ และกรรมการ HURC1 กล่าวว่า “รถไฟฟ้าสายแรกของนครโฮจิมินห์คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ครั้งแรกในเดือน ธ.ค.2567 นี้ ซึ่งจะช่วยยกระดับการเดินทางของคนนครโฮจิมินห์ และบรรเทาการจราจรที่ติดขัด โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองการเดินรถ และการเตรียมการให้บริการในด้านต่างๆ ซึ่งการลงนามความร่วมมือกับ รฟฟท.ในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยเพิ่มประสบการณ์ในการบริหารจัดการการเดินรถได้”
นายสุเทพกล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่ทาง HURC1 เลือก รฟฟท. เพราะมีหลายอย่างที่คล้ายคลึงกันในหลายๆเรื่อง เช่น ทุนที่ใช้ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าเป็นทุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) เหมือนกัน รถไฟฟ้าที่ใช้เดินรถเป็นของฮิตาชิเหมือนกัน ซึ่งส่วนนี้น่าจะเป็นหนึ่งในเหตุผลให้ทาง HURC1 เลือกเรา นอกจากนั้น ทั้ง รฟฟท.และ HURC1 เป็นองค์กรของรัฐ เช่นเดียวกันอีก และทาง HURC1 มีแนวคิดที่จะเดินรถ และซ่อมบำรุงด้วยตัวเองเช่นเดียวกับเราด้วย ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรามีประสบการณ์และสามารถแชร์ให้กับทาง HURC1 ได้
ปลื้ม 20 บาทตลอดสายคนใช้บริการพุ่ง
นายสุเทพกล่าวด้วยว่า รฟฟท.ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาสู่การเป็นผู้นำในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าด้วยมาตรฐานระดับสากล สร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ผู้ใช้บริการ โดยล่าสุด ตามที่กระทรวงคมนาคมได้มีนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงกรุงเทพอภิวัฒน์-รังสิต และกรุงเทพอภิวัฒน์-ตลิ่งชัน ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.66 เป็นต้นมา ครบ 11 เดือนแล้ว พบว่า ผู้โดยสารตอบรับดีมาก เป็นนโยบายที่ประสบผลสำเร็จอย่างมาก
“เห็นได้จากการคาดการณ์ตัวเลขผู้โดยสารที่ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อช่วงก่อนเริ่มนโยบาย คาดว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 15-20% จากผู้โดยสาธารณะที่มีเฉลี่ย 19,000-20,000 คนต่อวัน แต่ปรากฏว่าจำนวนผู้โดยสารสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในอัตรากว่า 50% หรือมีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ย 30,000 คนต่อวัน และเมื่อปลาย ส.ค.2567 ที่ผ่านมา มีปริมาณสูงสุด (นิวไฮ) ตั้งแต่เปิดให้บริการ เฉลี่ย 42,000 คนต่อวัน”
ทั้งนี้ รฟฟท.ได้รวบรวมข้อมูลผลการดำเนินงานตามมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพื่อประชุมร่วมกับกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก่อนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ขอขยายมาตรการค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายที่จะครบกำหนดเวลาตามมติ ครม.เดิมในวันที่ 30 พ.ย. 2567 รวมทั้งเสนอขอรับสนับสนุนเงินอุดหนุนจากภาครัฐเพื่อชดเชยรายได้ตามจริงที่หายไปประมาณ 10 บาท จากค่าโดยสารจริงเฉลี่ยที่ 30 บาทต่อคน ก่อนส่งเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอ ครม.อนุมัติต่อไป
นายสุเทพกล่าวต่อว่า ในปัจจุบัน รถไฟฟ้าสายสีแดงมีขบวนรถไฟฟ้า 25 ขบวน รองรับผู้โดยสาร 200,000 คนต่อวัน ขณะที่ภาพรวมผู้โดยสารตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.2566 อยู่ที่ 7.79 ล้านคน แต่ในปี 2567 เพียง 9 เดือน (1 ม.ค.-30 ก.ย.2567) มี 7,222,368 คน และคาดว่าตลอดทั้งปีนี้จะมีผู้โดยสารอยู่ที่ 9 ล้านคน และในปี 2568 เชื่อว่า ผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นประมาณ 15-20% ทำให้ภาพรวมผู้โดยสารจะอยู่ที่กว่า 12 ล้านคน.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่